วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันที่ 21 ปกป้องคริสตจักรของคุณ

ท่านทั้งหลายผูกพันกันด้วยสันติภาพโดยทางพระวิญญาณ ดังนั้น จงพยายามสุดความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันเช่นนี้ต่อไป
เอเฟซัส 4:3 (NCV)

เหนือสิ่งอื่นใด จงให้ความรักนำชีวิตของท่าน เพราะเมื่อนั้นทั้งคริสตจักรก็จะอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองอย่างสมบูรณ์
โคโลสี 3:14 (LB)

การปกป้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคริสตจักรคืองานของคุณ

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในกันคริสตจักรนั้นสำคัญมาก จนพระคัมภีร์ใหม่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากยิ่งกว่าเรื่องสวรรค์หรือนรก พระเจ้าปราถนาอย่างยิ่งให้เราบรรลุถึงความเป็นหนึ่ง และการปรองดอง

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันคือหัวใจแห่งสามัคคีธรรม ถ้าทำลายมันเสีย ก็เท่ากับกระชากหัวใจออกจากพระกายของพระคริสต์ มันคือส่วนสำคัญ เป็นแก่นแท้ของการที่พระเจ้าประสงค์ให้เราดำเนินชีวิตร่วมกันในคริสตจักรของพระองค์ แบบอย่างสูงสุดของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือตรีเอกานุภาพ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรวมเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์แบบ พระเจ้าทรงเป็นตัวอย่างสูงสุดของความรักที่เสียสละ การเห็นแก่คนอื่นด้วยความถ่อมใจ และการปรองดองที่สมบูรณ์แบบ

เช่นเดียวกับพ่อแม่ทุกคน พระบิดาในสวรรค์ของเราก็ทรงยินดีที่เห็นว่า ลูก ๆ ของพระองค์ปรองดองกันได้ ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่พระเยซูจะถูกจับกุม พระองค์ได้อธิษฐานอย่างร้อนรนเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของเรา (ยอห์น 17:20-23) ระหว่างชั่งโมงแห่งความทุกข์ทรมานนั้น ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเราคือ สิ่งสำคัญที่สุดในพระทัยของพระองค์ นี่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญเพียงใด

ไม่มีสิ่งใดในโลกที่มีค่าสำหรับพระเจ้ามากกว่าคริสตจักรของพระองค์ พระองค์ซื้อคริสคจักรด้วยราคาแพงที่สุด และพระองค์ต้องการให้คริสตจักรได้รับการป้องกัน

โดยเฉพาะจากความหายนะซึ่งเกิดจากความแตกแยก ความขัดแย้ง และการไม่ปรองดอง ถ้าคุณเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า คุณก็มีความรับผิดชอบที่จะปกป้องความเป็นหนึ่งของคริสตจักรที่คุณอยู่ พระเยซูมอบหมายให้คุณทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ปกป้องสามัคคีธรรม และส่งเสริมความปรองดองในคริสตจักรของคุณ และท่ามกลางผู้เชื่อทุกคน พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงพยายามรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มาจากพระวิญญาณนั้น โดยสันติภาพเป็นเครื่องผูกพัน" (เอเฟซัส 4:3 2002) เราจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร พระคัมภีร์ให้คำแนะนำในทางปฏิบัติดังนี้

จดจ่อที่ความเหมือน ไม่ใช่ความต่าง เปาโลบอกเราว่า "ให้เราเน้นในสิ่งที่ทำให้เกิดความปรองดอง และทำให้ลักษณะนิสัยของแต่ละคนเติบโต" (โรม 14:19 Ph) ในฐานะผู้เชื่อ เรามีองค์พระผู้เป็นเจ้าเดียว กายเดียว วัตถุประสงค์เดียว พระบิดาองค์เดียว พระวิญญาณองค์เดียว ความหวังเดียว ความเชื่อเดียว บัพติศมาเดียว และความรักเดียว (โรม 10:19; 12:4-5; 1 โครินธ์ 1:10; 8:6; 12:13; เอเฟซัส 4:4; 5:5; ฟีลิปปี 2:2) เราร่วมรับความรอดเดียวกัน ชีวิตเดียวกัน และอนาคตเดียวกัน สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งกว่าความแตกต่างใด ๆ ที่เราสามารถนึกได้ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เราควรจะเน้น ไม่ใช่ความแตกต่างส่วนตัวของเรา

เราต้องจำไว้ว่า พระเจ้าคือผู้ตัดสินพระทัยประทานบุคลิกภาพ ภูมิหลัง เชื้อชาติและความชอบที่แตกต่างแก่เรา ดังนั้นเราควรให้คุณค่าและชื่นชมความแตกต่างเหล่านั้น ไม่ใช่แค่อดทนต่อสิ่งเหล่านั้น พระเจ้าต้องการความเป็นเอกภาพ ไม่ใช่ความเหมือน และเพื่อเห็นแก่ความเป็นหนึ่ง เราต้องไม่ให้ความแตกต่างมาแบ่งแยกเรา เราต้องพยายามจดจ่อต่อสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเรียนรู้ที่จะรักกันอย่างที่พระคริสต์ทรงรักเรา และทำให้พระประสงค์ห้าประการของพระเจ้าสำหรับเราแต่ละคน และสำหรับคริสตจักรของพระองค์สำเร็จ

ความขัดแย้งมักเป็นสัญญาณว่า เราเริ่มหันไปจดจ่อต่อสิ่งที่สำคัญน้อยกว่าคือ สิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า "เรื่องที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท" (โรม 14:1; 2 ทิโมธี 2:23) เมื่อเราจดจ่อที่บุคลิกภาพ ความชอบ การตีความหมาย รูปแบบ หรือวิธีการ ความแตกแยกก็มักจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราเน้นเรื่องการรักกันและกัน และการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จความปรองดองก็จะเกิดขึ้น เปาโลวิงวอนเพื่อสิ่งนี้โดยกล่าวว่า "ขอให้สามัคคีกันไว้ อย่าแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเลย แต่ขอให้มีความคิดและเป้าหมายเดียวกัน" (1 โครินธ์ 1:10 อ่านเข้าใจง่าย)

คาดหวังโดยคำนึงถึงความเป็นจริง เมื่อคุณได้พบว่าพระเจ้าประสงค์ให้สามัคคีธรรมแท้เป็นอย่างไร คุณอาจรู้สึกท้อแท้ใจเอาง่าย ๆ เมื่อเห็นช่องว่างระหว่างอุดมคติ และความเป็นจริงในคริสตจักรของคุณ แต่เราต้องรักคริสตจักรอย่างสุดใจ แม้คริสตจักรจะอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ การปราถนาสภาพในอุดมคติ และขณะเดียวกันก็ตำหนิสภาพที่เป็นอยู่นั้น แสดงถึงความไม่เป็นผู้ใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การหยุดนิ่งอยู่กับสภาพที่เป็นอยู่ โดยไม่พยายามไปถึงอุดมคตินั้นคือความเฉื่อยชา ความเป็นผู้ใหญ่คือการดำเนินชีวิตไปกับความกดดัน

ผู้เชื่อคนอื่น ๆ จะทำให้คุณผิดหวังและรู้สึกแย่ แต่นั่นไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะหยุดสามัคคีธรรมกับเขา พวกเขาเป็นครอบครัวของคุณ แม้แต่ในเวลาที่พวกเขาไม่ได้ทำตัวเช่นนั้น และคุณไม่สามารถทิ้งพวกเขาไปเฉย ๆ พระเจ้าตรัสบอกเราว่า "จงอดทนต่อกันและกัน ยอมผ่อนปรนต่อความผิดของกันและกันด้วยความรักของท่าน" (เอเฟซัส 4:2 Msg)

ผู้คนผิดหวังต่อคริสตจักรด้วยเหตุผลหลายอย่างที่เข้าใจได้ เหตุผลเหล่านี้มีมากมายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง ความเจ็บปวด ความหน้าซื่อใจคต การละเลย ความใจแคบ การเคร่งกฎระเบียบ และความบาปอื่น ๆ ดังนั้นแทนที่จะตกใจและแปลกใจ เราต้องระลึกว่าคริสตจักรนั้นระกอบด้วยคนบาปตัวจริง รวมทั้งตัวเราเองด้วย เพราะว่าเราเป็นคนบาปเราจึงทำร้ายกัน บางครั้งโดยเจตนาและบางครั้งโดยไม่เจตนา แต่แทนที่จะละทิ้งคริสตจักรเราจำเป็นต้องอยู่และแก้ปัญหานั้นถ้าเป็นไปได้ หนทางสู่นิสัยที่มั่นคงและสามัคคีธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นคือ การคืนดี ไม่ใช่การหนี

การออกจากคริสตจักรทันทีที่เห็นวี่แววของความผิดหวังหรือความไม่สมหวังนั้นเป็นเครื่องหมายของความไม่เป็นผู้ใหญ่ พระเจ้ามีสิ่งที่พระองค์ต้องการสอนคุณและสอนคนอื่นด้วย นอกจากนั้น คุณจะไม่มีวันพบคริสตจักรที่สมบูรณ์แบบเพื่อคุณจะหนีไปอยู่ได้ ทุกคริสตจักรมีความอ่อนแอและปัญหาของตัวเอง ในไม่ช้าคุณจะผิดหวังอีก

เกราโช มาร์กซ์ มีชื่อเสียงจากคำพูดที่เขากล่าวว่า เขาคงไม่อยากเป็นสมาชิกของสมาคมใดก็ตามที่จะรับเขาเข้าเป็นสมาชิก ถ้าคริสตจักรต้องเพียบพร้อมสมบูรณ์เพื่อทำให้คุณพอใจ ความสมบูรณ์เดียวกันนั้นก็จะทำให้คุณไม่สามารถเป็นสมาชิกได้ เพราะว่าคุณไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบ

ดีทริค บอนเฮอฟเฟอร์ ศิลยาภิบาลชาวเยอรมันซึ่งถูกประหารชีวิตเพราะต่อต้านพวกนาซี ได้เขียนหนังสืออมตะเกี่ยวกับสามัคคีธรรม ชื่อ Life Together (ชีวิตร่วมกัน) ในหนังสือเล่มนั้นท่านเสนอว่า ความไม่สมหวังกับคริสตจักรท้องถิ่นของตนเป็นสิ่งดี เพราะว่ามันช่วยทำลายความคาดหวังจอมปลอมที่จะพบคริสตจักรที่สมบูรณ์แบบ ไม่ช้าเราจะทิ้งภาพลวงตาที่ว่าคริสตจักรต้องสมบูรณ์แบบเพื่อเราจะรักคริสตจักรได้ ไม่ช้าเราจะหยุดเสแสร้งและเริ่มยอมรับว่าพวกเราล้วนไม่สมบูรณ์ต้องการพระคุณ นี่คือจุดเริ่มต้นของชุมชนแท้

ทุกคริสตจักรสามารถติดป้ายไว้ว่า "คนดีพร้อมไม่ต้องมาสมัคร ที่นี่มีไว้สำหรับคนที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนบาป ต้องการพระคุณ และต้องการเติบโตเท่านั้น"

บอนเฮอฟเฟอร์กล่าวว่า "คนที่รักชุมชนในฝันมากกว่ารักชุมชนคริสเตียนจะกลายเป็นผู้ทำลายชุมชนคริสเตียน… ถ้าเราไม่ขอบพระคุณทุกวันสำหรับสามัคคีธรรมคริสเตียนซึ่งพระเจ้าให้เราได้อยู่ร่วม แม้ว่ามันจะไม่มีประสบการณ์ยิ่งใหญ่ ไม่มีความมั่งคั่งที่จะพบได้มีแต่ความอ่อนแอ ความเชื่อน้อย และปัญหามากมาย และถ้าในทางตรงกันข้าม เราเอาแต่บ่นว่าทุกสิ่งไร้สาระและเลวร้าย เราก็กำลังขัดขวางพระเจ้าจากการทำให้สามัคคีธรรมของเราเติบโต

ตั้งใจว่าจะหนุนใจแทนที่จะติเตียน การยืนอยู่ข้างสนามและตำหนิคนที่กำลังรับใช้นั้นง่ายกว่าการเข้าร่วมและให้ความช่วยเหลือ พระเจ้าทรงเตือนเราเสมอ ๆ ว่าอย่าตำหนิเปรียบเทียบ หรือตัดสินกันและกัน (โรม 14:13; ยากอบ 4:11; เอเฟซัส 4:29; มัทธิว 5:9; ยากอบ 5:9) เมื่อคุณวิจารณ์สิ่งที่ผู้เชื่อคนอื่นกำลังทำอยู่ด้วยความเชื่อ และด้วยความเชื่อมั่นที่จริงใจ คุณก็กำลังแทรกแซงการทำงานของพระเจ้า "ท่านเป็นใครเล่าที่จะไปตำหนิผู้รับใช้ของคนอื่น นายของเขาเองจะเป็นผู้ตัดสินว่า เราทำสำเร็จหรือล้มเหลว" (โรม 14:4 ประชานิยม)

เปาโลกล่าวเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า เราต้องไม่ตัดสินหรือดูถูกผู้เชื่อคนอื่น ซึ่งมีความเชื่อมั่นแตกต่างจากเรา "แล้วทำไมท่านจึงตำหนิการกระทำของพี่น้อง ทำไมจึงพยายามดูถูกพวกเขา วันหนึ่งเราทุกคนจะถูกพิพากษา ไม่ใช่ตามมาตรฐานของกันและกัน หรือแม้แต่มาตรฐานของเราเอง แต่ตามมาตรฐานของพระคริสต์" (โรม 14:10 Ph)

เมื่อใดก็ตามที่ผมตัดสินผู้เชื่ออีกคนหนึ่ง สี่สิ่งต่อไปนี้จะเกิดขึ้นทันที คือผมสูญเสียสามัคคีธรรมกับพระเจ้า ผมเปิดเผยความเย่อหยิ่งและความไม่มั่นคงของตัวเอง ผมหาเรื่องที่จะถูกพระเจ้าพิพากษา และผมทำร้ายสามัคคีธรรมของคริสตจักร จิตวิญญาณช่างตำหนินั้นเป็นความชั่วที่สร้างความเสียหายมหาศาล

พระคัมภีร์เรียกซาตานว่า "ผู้กล่าวโทษพี่น้องของเรา" (วิวรณ์ 12:10) งานของมารคือ กล่าวโทษ บ่น และวิจารณ์คนในครอบครัวของพระเจ้า เมื่อใดก็ตามที่เราทำสิ่งเดียวกับมัน เราก็กำลังถูกล่อลวงให้ทำงานของซาตาน โปรดระลึกว่าคริสเตียนคนอื่น ๆ ไม่ใช่ศัตรูแท้จริง ไม่ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับพวกเขามากเพียงไร เมื่อใดก็ตามที่เราใช้เวลาเปรียบเทียบ หรือวิจารณ์ผู้เชื่อคนอื่น เมื่อนั้นก็เป็นเวลาที่เราควรใช้สร้างความเป็นน้ำหนึ่งในสามัคคีธรรมของเรา พระคัมภีร์กล่าวว่า "ให้เราตกลงใจว่า เราจะทุ่มเทพลังทั้งหมดของเราเพื่อปรองดองกัน จงช่วยเหลือคนอื่นด้วยคำพูดที่หนุนใจ อย่าดึงเขาให้ตกต่ำด้วยการคอยจับผิด" (โรม 14:19 Msg)

ปฏิเสธที่จะฟังคำนินทา การนินทาคือ การส่งต่อข้อมูลเมื่อคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หรือส่วนหนึ่งของการแก้ไข คุณรู้ว่าการแพร่คำนินทาเป็นสิ่งผิด และคุณก็ไม่ควรจะฟังมันด้วยถ้าคุณต้องการปกป้องคริสตจักรของคุณ การฟังคำนินทาก็เหมือนการรับของโจร และมันทำให้คุณมีความผิดเท่ากัน

เมื่อคนหนึ่งเริ่มนินทาให้คุณฟัง จงกล้าพอที่จะพูดว่า "ขอร้องนะ หยุดเถอะ ฉันไม่จำเป็นต้องรู้ คุณพูดกับคนนั้นโดยตรงหรือยัง" คนที่นินทาให้คุณฟังจะนินทาเรื่องของคุณด้วย พวกเขาเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ถ้าคุณฟังคำนินทา พระเจ้าตรัสว่า คุณก็เป็นตัวสร้างปัญหา (สุภาษิต 17:4; 16:28; 26:20; 25:9; 20:19) "ตัวสร้างปัญหาฟังตัวสร้างปัญหา" (สุภาษิต 17:4 CEV) "คนเหล่านี้คือคนที่ทำให้คริสตจักรแตกแยก เพราะคิดถึงแต่ตัวเอง" (ยูดา 1:19 Msg)

น่าศร้าใจที่ในฝูงแกะของพระเจ้า บาดแผลร้ายแรงที่สุดมักจะเกิดจากแกะตัวอื่นไม่ใช่จากสุนัขป่า เปาโลได้เตือนเรื่อง "คริสเตียนกินคน" ผู้ "กัดกินเนื้อกันและกัน" และทำลายสามัคคีธรรม (กาลาเทีย 5:15) พระคัมภีร์กล่าวว่าเราควรหลีกเลี่ยงตัวสร้างปัญหาเหล่านี้ "บุคคลที่เที่ยวซุบซิบไปก็เผยความลับให้กระจาย ฉะนั้นอย่าเข้าสังคมกับคนปากบอน (สุภาษิต 20:19) วิธีที่เร็วที่สุดในการหยุดความขัดแย้งในคริสตจักรหรือกลุ่มย่อย คือการใช้ความรักว่ากล่าวคนที่นินทา และยืนกรานให้พวกเขาหยุด ซาโลมอนกล่าวว่า "เพราะขาดฟืนไฟก็ดับ และที่ไหนที่ไม่มีคนซุบซิบการทะเลาะวิวาทก็หยุดไป" (สุภาษิต 26:20)

ทำตามวิธีการของพระเจ้าในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง นอกเหนือจากหลักการที่กล่าวไว้ในบทที่แล้ว พระเยซูได้ประทานขั้นตอนง่าย ๆ สามขั้นตอนแก่คริสตจักร "ถ้าผู้เชื่อคนหนึ่งทำผิดต่อท่าน จงไปหาเขาและบอกเขา จัดการเรื่องนี้กันสองต่อสอง ถ้าเขาฟังท่าน ท่านก็จะกลับเป็นเพื่อนกัน ถ้าเขาไม่ฟังก็ให้หาคนอื่นไปด้วยหนึ่งหรือสองคนเพื่อจะเป็นพยานยืนยันว่าสิ่งต่าง ๆ โปร่งใส และพยายามอีกครั้ง ถ้าเขายังไม่ฟัง ก็จงบอกเรื่องนี้แก่คริสตจักร" (มัทธิว 18:15-17ก Msg)

ระหว่างที่มีความขัดแย้ง จะมีการทดสอบให้เราไปบ่นกับบุคคลที่สาม แทนที่จะกล้าพูดความจริงด้วยใจรักกับคนที่คุณไม่พอใจ สิ่งนี้ทำให้ปัญหาแย่ลง แทนที่จะทำเช่นนั้นคุณควรไปหาคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง

การพูดคุยส่วนตัวเป็นก้าวแรกเสมอ และคุณควรจะทำโดยเร็วที่สุด ถ้าคุณไม่สามารถจัดการปัญหานี้กันสองต่อสอง ก้าวต่อไปคือการนำพยานไปด้วยหนึ่งหรือสองคนเพื่อช่วยยืนยันเรื่องปัญหา และทำให้คืนดีกัน คุณควรจะทำอย่างไรถ้าคนนั้นยังดื้อรั้นอยู่ พระเยซูตรัสว่า ให้นำเรื่องนี้ไปยังคริสตจักร ถ้าคนนั้นยังปฏิเสธที่จะฟังอีก คุณก็ควรปฏิบัติต่อเขาอย่างผู้ไม่เชื่อ (มัทธิว 18:17; 1 โครินธ์ 5:5)

สนับสนุนศิษยาภิบาลและผู้นำของคุณ ไม่มีผู้นำที่ดีพร้อมสมบูรณ์ แต่พระเจ้าประทานความรับผิดชอบและสิทธิอำนาจแก่ผู้นำเพื่อรักษาความเป็นน้ำหนึ่งของคริสตจักร มันเป็นงานที่ไม่มีใครขอบคุณในช่วงเวลาที่มีคนขัดแย้งกัน ศิษยาภิบาลมักจะต้องรับบทยาก ๆ ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างสมาชิกที่บาดเจ็บ ขัดแย้ง และไม่เป็นผู้ใหญ่ พวกเขายังได้รับมอบหมายให้ทำงานที่เป็นไปไม่ได้ในการทำให้ทุกคนมีความสุข ซึ่งแม้แต่พระเยซูก็ยังทรงทำไม่ได้

พระคัมภีร์บอกชัดเจนถึงวิธีที่เราจะสัมพันธ์กับผู้ที่รับใช้เรา "จงเชื่อฟังบรรดาผู้นำที่อภิบาลชีวิตคุณ ฟังคำแนะนำของพวกเขา พวกเขาใส่ใจสภาพของชีวิตและการงานของท่าน ภายใต้การกวดขันของพระเจ้า จงให้เขาทำหน้าที่ผู้นำด้วยความยินดี ไม่ใช่ด้วยความเหนื่อยหน่าย ทำไมท่านจึงอยากให้พวกเขาทำงานยากขึ้น" (ฮีบรู 13:17 Msg)

วันหนึ่งศิษยาภิบาลจะต้องยืนต่อพระพักตร์พระเจ้า และรายงานว่าพวกเขาได้ดูแลคุณดีเพียงไร "พวกเขาเฝ้าดูแลท่านในฐานะเป็นผู้ที่ต้องรายงาน" (ฮีบรู 13:17 อมตธรรมร่วมสมัย) แต่คุณก็ต้องรายงานด้วย คุณจะรายงานต่อพระเจ้าว่าคุณติดตามผู้นำของคุณดีเพียงไร

พระคัมภีร์ให้คำสั่งแก่ศิษยาภิบาลอย่างเจาะจงมาก ถึงวิธีปฏิบัติต่อคนที่สร้างความแตกแยกในคริสตจักร พวกเขาต้องหลีกเลี่ยงการทุ่มเถียง และสั่งสอนฝ่ายตรงข้ามอย่างสุภาพ ขณะเดียวกันก็อธิษฐานว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลง เขาต้องเตือนคนเหล่านั้นที่ชอบโต้แย้ง วิงวอนเพื่อความปรองดองและความเป็นหนึ่ง ตำหนิคนที่ไม่เคารพผู้นำ และขจัดคนที่สร้างความแตกแยกออกไปจากคริสตจักร ถ้าตักเตือนสองครั้งแล้วพวกเขายังไม่สนใจ (2 ทิโมธี 2:14, 23-26; ฟีลิปปี 4:2; ทิตัส 2:15-3:2, 10-11)

เรากำลังปกป้องสามัคคีธรรม เมื่อเราให้เกียรติคนที่รับใช้เราโดยการนำ ศิษยาภิบาลและผู้นำต้องการคำอธิษฐาน คำหนุนใจ คำชม และความรักจากเรา เราได้รับคำสั่งให้ "เคารพนับถือผู้ที่ทำการอยู่ท่ามกลางพวกท่าน คนเหล่านั้นเป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงเลือกไว้ให้เป็นผู้นำและสอนท่าน จงเคารพและรักเขาให้มาก" (1 เธสะโลนิกา 5:12-13ก ประชานิยม)

ผมขอท้าทายคุณ ให้ยอมรับความรับผิดชอบของคุณในการปกป้องและส่งเสริมความเป็นหนึ่งในคริสตจักรที่คุณอยู่ จงทุ่มเทอย่างเต็มที่และพระเจ้าจะพอพระทัย มันจะไม่ง่ายเสมอไป บางครั้งคุณจะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพระกาย ไม่ใช่สำหรับตัวเอง โดยเห็นแก่คนอื่น นั่นคือเหตุผลประการหนึ่งที่พระเจ้าให้เราอยู่ในครอบครัวคริสเตียน คือเพื่อเรียนรู้ที่จะไม่เห็นแก่ตัว ในชุมชนเราเรียนรู้ที่จะพูดว่า "เรา" แทนคำว่า "ฉัน" และ "ของเรา" แทนคำว่า "ของฉัน" พระเจ้าตรัสว่า "อย่าให้ผู้ใดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น" (1 โครินธ์ 10:24)

พระเจ้าทรงอวยพระพรคริสตจักรที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็คสมาชิกทุกคนได้ลงนามในพันธสัญญาซึ่งครอบคลุมถึงคำสัญญาที่จะปกป้องความเป็นหนึ่งของคริสตจักรเรา ผลคือคริสตจักรไม่เคยมีความขัดแย้งจนถึงขั้นคริสตจักรแตก อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญพอ ๆ กันคือ เมื่อสามัคคีธรรมของที่นี่มีความรักและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันคนจำนวนมากจึงอยากเข้าร่วม ในเจ็ดปีที่ผ่านมา คริสตจักรได้ให้บัพติศมาผู้เชื่อใหม่กว่า 9,100 คน เมื่อพระเจ้าทรงมีผู้เชื่อทารกที่พระองค์ต้องการให้คลอดออกมา พระองค์ก็ทรงมองหาคริสตจักรที่อบอุ่นที่สุดที่พระองค์ทรงหาได้เพื่อเลี้ยงดูฟูมฟักพวกเขา

คุณจะทำอะไรเพื่อช่วยให้ครอบครัวคริสตจักรของคุณอบอุ่นและมีความรักมากขึ้นมีหลายคนในชุมชนของคุณที่มองหาความรักและสถานที่ที่เขาจะเป็นส่วนหนึ่ง ความจริงคือว่า ทุกคนจำเป็นและอยากได้รับความรัก และเมื่อคนพบคริสตจักรที่สมาชิกรักและเอาใจใส่กันและกันจริง ๆ คุณจะต้องปิดประตูลงกลอนถึงจะกันพวกเขาไม่ให้เข้ามาได้

วันที่ 21 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: การปกป้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคริสตจักรเป็นความรับผิดชอบของฉัน

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "ให้เราเน้นในสิ่งที่ทำให้เกิดความปรองดอง และทำให้ลักษณะนิสัยของแต่ละคนเติบโต" โรม 14:19( Ph)

คำถามสำหรับการพิจารณา: ฉันได้ทำอะไรในส่วนตัวของฉันบ้างเพื่อปกป้องความเป็นหนึ่งของครอบครัวฉันในเวลานี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น