วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 20 รื้อฟื้นสามัคคีธรรมที่แตกร้าว

[พระเจ้า] ทรงรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์โดยทางพระคริสต์ และได้ประทานพันธกิจแห่งการรื้อฟื้นความสัมพันธ์นี้แก่เรา
2 โครินธ์ 5:18 (GWT)

ความสัมพันธ์เป็นสิ่งคุ้มค่าแก่การรื้อฟื้นเสมอ

เพราะชีวิตทั้งชีวิตเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ที่จะรัก พระเจ้าจึงต้องการให้เราให้คุณค่าแก่ความสัมพันธ์ และทุ่มเทเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ แทนที่จะทิ้งขว้างไปทันทีที่เกิดความแตกร้าว ความเจ็บปวด หรือความขัดแย้ง ที่จริง พระคัมภีร์บอกเราว่า พระเจ้าประทานพันธกิจการรื้อฟื้นความสัมพันธ์แก่เรา (2 โครินธ์ 5:18) ด้วยเหตุนี้ เนื้อหามากมายในพระคัมภีร์ใหม่จึงเน้นเรื่องการสอนให้เราปรองดองกัน เปาโลเขียนว่า "ถ้าท่านได้สิ่งใดก็ตามจากการติดตามพระคริสต์ ถ้าความรักของพระองค์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตท่าน ถ้าการอยู่ในชุมชนของพระวิญญาณมีความหมายสำหรับท่าน… จงเห็นพ้องกัน รักกัน และเป็นเพื่อนที่จิตใจผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง" (ฟีลิปปี 2:1-2 Msg) เปาโลสอนว่า ความสามารถของเราในการปรองดองกับคนอื่นคือเครื่องหมายของความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ (โรม 15:5)

เนื่องจากพระคริสต์ต้องการให้ครอบครัวของพระองค์เป็นที่รู้จักในเรื่องความรักที่เรามีต่อกัน (ยอห์น 13:35) สามัคคีธรรมที่แตกร้าวจึงเป็นคำพยานที่เสื่อมเสียสำหรับคนไม่เชื่อ นี่คือเหตุผลที่เปาโลรู้สึกละอายอย่างยิ่งที่สมาชิกคริสตจักรในเมืองโครินธ์แตกแยกกันเป็นกลุ่ม ๆ และถึงกับพากันขึ้นโรงขึ้นศาล ท่านเขียนว่า "ข้าพเจ้าเขียนมาเช่นนี้ก็เพื่อจะให้ท่านละอายใจ จะต้องมีคนเฉลียวฉลาดสักคนหนึ่งอยู่ในพวกท่านอย่างแน่นอน ที่จะจัดการในเรื่องไม่ลงรอยกันนี้ให้เรียบร้อยลงไปได้" (1 โครินธ์ 6:5 ประชานิยม) ท่านตกใจที่ไม่มีใครในคริสตจักรเป็นผู้ใหญ่พอที่จะแก้ไขความขัดแย้งอย่างสงบ ในจดหมายฉบับเดียวกัน ท่านกล่าวว่า "ข้าพเจ้าถือว่าเร่งด่วนมาก ท่านต้องปรองดองกัน" (1 โครินธ์ 1:10 Msg)

ถ้าคุณต้องการพระพรของพระเจ้าในชีวิต และต้องการเป็นที่รู้จักในฐานะลูกของพระเจ้า คุณต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้สร้างสันติ พระเยซูตรัสว่า "คนที่สร้างสันติก็เป็นสุขเพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาทั้งหลายว่าเป็นลูก" (มัทธิว 5:9 2002) สังเกตว่า พระเยซูมิได้ตรัสว่า "คนที่รักสันติก็เป็นสุข" เพราะว่าทุกคนรักสันติ และพระองค์มิได้ตรัสว่า "คนที่สงบก็เป็นสุข" คือคนที่ไม่ถูกสิ่งใดรบกวนเลย แต่พระเยซูตรัสว่า "คนที่สร้างสันติก็เป็นสุข" คือคนเหล่านั้นที่พยายามแก้ไขความขัดแย้ง ผู้สร้างสันติมีน้อยเพราะว่าการสร้างสันติเป็นงานหนัก

เนื่องจากคุณถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของพระเจ้า และวัตถุประสงค์ประการที่สองของชีวิตในโลกของคุณคือ การเรียนรู้ที่จะรักและสัมพันธ์กับคนอื่นการสร้างสันติจึงเป็นทักษะสำคัญที่สุดที่คุณจะฝึกได้ น่าเสียดาย พวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการสอนวิธีแก้ไขความขัดแย้ง

การสร้างสันติไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การวิ่งหนีปัญหา การแสร้งทำเป็นไม่มีปัญหา หรือการกลัวที่จะพูดถึงมัน ล้วนแล้วแต่เป็นความขี้ขลาดโดยแท้ พระเยซูองค์สันติราช ไม่เคยกลัวความขัดแย้ง บางครั้งพระองค์ทรงเริ่มต้นความขัดแย้งเพื่อผลดีสำหรับทุกคน บางครั้งเราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่บางครั้งเราก็จำเป็นต้องสร้างมันขึ้นมา และบางครั้งเราต้องแก้ไขมัน นั่นคือเหตุผลที่เราต้องอธิษฐานขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทุกลมหายใจ

การสร้างสันติไม่ใช่การยอมอ่อนข้อต่อทุกสถานการณ์ การเอาแต่ยอมแพ้ ทำตัวเหมือนพรมเช็ดเท้า และปล่อยให้คนอื่นทับถมคุณอยู่เรื่อยไปไม่ใช่สิ่งที่พระเยซูต้องการ พระองค์ไม่ยอมถอยในหลาย ๆ เรื่อง และทรงยืนหยัดจุดยืนของพระองค์ต่อสู้ความชั่ว

วิธีฟื้นความสัมพันธ์

ในฐานะผู้เชื่อพระเจ้า "ทรงเรียกให้เราจัดการความสัมพันธ์ท่ามกลางพวกเรา" (2 โครินธ์ 5:18 Msg) ขั้นตอนเจ็ดประการต่อไปนี้เป็นขั้นตอนตามพระคัมภีร์ในการรื้อฟื้นสามัคคีธรรม

อธิษฐานกับพระเจ้าก่อนจะพูดคุยกับคนนั้น จงปรึกษาปัญหานี้กับพระเจ้า ถ้าคุณอธิษฐานเรื่องความขัดแย้งนี้ก่อน แทนที่จะไปนินทาให้เพื่อนฟัง คุณมักจะพบว่าพระเจ้าจะทรงเปลี่ยนใจคุณ หรือไม่พระองค์ก็ทรงเปลี่ยนอีกฝ่ายโดยที่คุณไม่ต้องช่วยเลย ความสัมพันธ์ของคุณจะราบรื่นกว่าถ้าคุณจะอธิษฐานเพื่อพวกเขามากขึ้น

เหมือนอย่างที่ดาวิดใช้บทเพลงสดุดีของท่าน จงใช้การอธิษฐานเพื่อระบายความรู้สึกขึ้นสู่เบื้องบน จงบอกพระเจ้าถึงความไม่พอใจของคุณ ร้องต่อพระองค์ พระองค์ไม่เคยประหลาดพระทัยหรือหงุดหงิดเพราะความโกรธ ความเจ็บปวด ความหวั่นไหว หรืออารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ ของคุณ ดังนั้นจงทูลพระองค์อย่างที่คุณรู้สึกจริง ๆ ความขัดแย้งส่วนใหญ่มีรากเหง้ามาจากความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง และความต้องการเหล่านี้บางอย่างมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ตอบสนองได้ เมื่อคุณคาดหวังใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คู่ครอง เจ้านาย หรือสมาชิกครอบครัว ให้สนองความต้องการที่พระเจ้าเท่านั้นสามารถช่วยได้ คุณก็กำลังพาตัวเองไปหาความผิดหวังและความขมขื่น ไม่มีใครสามารถตอบสนองความต้องการทุกอย่างของคุณได้นอกจากพระเจ้า

อัครทูตยากอบสังเกตว่า หลายครั้งความขัดแย้งของเรามีสาเหตุเพราะขาดการอธิษฐาน "อะไรเป็นสาเหตุของสงครามและอะไรเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทกันในพวกท่าน… ท่านทั้งหลายอยากได้แต่ไม่ได้… ท่านไม่มี เพราะท่านไม่ได้ขอพระเจ้า" (ยากอบ 4:1-2) แทนที่จะพึ่งพระเจ้า เรากลับพึ่งคนอื่นที่จะทำให้เรามีความสุข แล้วพอพวกเขาทำไม่ได้ เราก็โกรธเขา พระเจ้าตรัสว่า "ทำไมเจ้าไม่มาหาเราก่อน"

เป็นฝ่ายเริ่มคืนดีก่อนเสมอ ไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด พระเจ้าทรงคาดหวังว่าคุณต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน อย่าคอยอีกฝ่ายหนึ่ง จงไปหาเขาก่อน การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่แตกร้าวนั้นสำคัญมาก พระเยซูตรัสสั่งว่า เรื่องนี้สำคัญยิ่งกว่าการนมัสการเป็นกลุ่มเสียอีก พระองค์ตรัสว่า "ถ้าท่านเข้าไปในสถานนมัสการ กำลังจะถวายเครื่องบูชาแล้วทันใดนั้นท่านนึกได้ว่ามิตรสหายคนหนึ่งโกรธเคืองท่านอยู่ จงละเครื่องบูชาไว้ ออกไปทันที ไปหาสหายคนนั้นและแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า" (มัทธิว 5:23-24 Msg)

เมื่อความสัมพันธ์ตึงเครียดหรือแตกร้าว จงเตรียมการพบปะเพื่อสร้างสันติทันที อย่าซื้อเวลา แก้ตัว หรือสัญญาว่า "เดี๋ยวสักวันหนึ่งผมจะจัดการเรื่องนั้น" จงกำหนดเวลาพบปะส่วนตัวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การรอช้ามีแต่จะทำให้ความขุ่นเคืองฝังลึก และทำให้ปัญหาเลวร้ายลง ในเรื่องความขัดแย้งนั้น เวลาไม่ช่วยเยียวยาอะไรเลย รังแต่จะทำให้เจ็บปวดมากขึ้น

การลงมืออย่างรวดเร็วยังช่วยลดความเสียหายฝ่ายวิญญาณของคุณ พระคัมภีร์กล่าวว่า ความบาปรวมทั้งความขัดแย้งที่ไม่ได้แก้ไขนั้น จะขัดขวางสามัคคีธรรมระหว่างเรากับพระเจ้า และทำให้คำอธิษฐานของเราไม่ได้รับคำตอบ (1 เปโตร 3:7; สุภาษิต 28:9) นอกจากนั้นยัง ทำให้เรารู้สึกแย่ เพื่อนของโยบเตือนท่านว่า "เป็นการกระทำที่โง่เขลาและไร้ความคิดที่จะให้ความขุ่นเคืองทับถมตนเองจนตาย" และ "ท่านมีแต่ทำร้ายตัวเองด้วยความโกรธ" (โยบ 5:2; 18:4 TEV)

ความสำเร็จของการพูดคุยเพื่อสันติมักจะขึ้นอยู่กับการเลือกเวลาและสถานการณ์ที่ในการพบปะ อย่าพบกันเมื่อฝ่ายหนึ่งเหนื่อยล้า หรือรีบ หรือจะถูกรบกวน เวลาที่ดีที่สุดคือ เมื่อคุณทั้งสองอยู่ในสภาพร่างกายจิตใจที่ดีที่สุด

เห็นใจความรู้สึกของพวกเขา จงใช้หูมากกว่าปาก ก่อนจะพยายามแก้ไขความไม่ลงรอยใด ๆ ก็ตาม คุณต้องฟังความรู้สึกของคนอื่นก่อน เปาโลแนะนำว่า "อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น ๆ ด้วย" (ฟีลิปปี 2:4) คำว่า "เห็นแก่" เป็นภาษากรีก สโกพอส ซึ่งผันมาเป็นคำว่ากล้องส่องทางไกลและกล้องจุลทรรศน์ในภาษาอังกฤษ มันหมายถึงการสนใจอย่างใกล้ชิด จงจดจ่อที่ความรู้สึกของพวกเขา ไม่ใช่ที่ข้อเท็จจริง จงเริ่มต้นที่ความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่ที่หนทางแก้ปัญหา

อย่าพยายามพูดให้ความรู้สึกในตอนแรกของเขาหันเหไปเป็นอื่น ให้คุณเพียงแต่ฟังและปล่อยให้พวกเขาระบายความรู้สึกโดยไม่แก้ตัว จงพยักหน้าว่าคุณเข้าใจแม้คุณจะไม่เห็นด้วย ความรู้สึกไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรือสมเหตุผลเสมอไป ที่จริง ความขุ่นเคืองทำให้เราประพฤติหรือคิดอย่างโง่เขลา ดาวิดยอมรับว่า "เมื่อความคิดของข้าพระองค์ขมขื่นและความรู้สึกของข้าพระองค์เจ็บ ข้าพระองค์ก็โง่เขลาอย่างกับสัตว์" (สดุดี 73:21-22 TEV) เวลาบาดเจ็บเราทุกคนก็ทำตัวราวกับสัตว์

ในทางตรงข้าม พระคัมภีร์กล่าวว่า "สติปัญญาของมนุษย์ทำให้เขาอดทน และที่มองข้ามความผิดไปเสียก็เป็นศักดิ์ศรีแก่เขา" (สุภาษิต 19:11 NIV) ความอดทนมาจากสติปัญญา และสติปัญญามาจากมุมมองของคนอื่น การฟังเป็นการกล่าวว่า "ผมเห็นคุณค่า ความคิดเห็นของคุณ ผมสนใจความสัมพันธ์ของเรา และคุณสำคัญสำหรับผม" คำคมนี้ ก็เป็นจริงคือ ผู้คนไม่สนใจว่าคุณจะรู้อะไร จนกว่าเขาจะรู้ว่าคุณสนใจเขา

ในการรื้อฟื้นสามัคคีธรรมนั้น "เราต้องรับ ภาวะ ที่จะใส่ใจต่อความสงสัยและความกลัวของคนอื่น… ให้เราเอาใจคนอื่น ไม่ใช่ตัวเองและทำสิ่งที่ดีสำหรับเขา" (โรม 15:2 LB) มันเป็นความเสียสละที่จะอดทนรับความโกรธของคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อมันไม่มีสาเหตุแต่โปรดระลึกว่า นี่คือสิ่งที่พระเยซูได้ทรงทำเพื่อคุณ พระองค์ทรงทนต่อความโกรธที่ไร้สาเหตุและมุ่งร้าย เพื่อช่วยคุณให้รอด "พระคริสต์มิได้ทรงสนองความรู้สึกของพระองค์เอง… ตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า คำพูดเยาะเย้ยของบรรดาผู้ที่เยาะเย้ยท่าน ตกอยู่แก่ข้าพระองค์" (โรม 15:3 NJB)

สารภาพเรื่องที่คุณเป็นฝ่ายผิดในความขัดแย้งนั้น ถ้าคุณจริงจังต่อการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ คุณควรเริ่มต้นด้วยการยอมรับความผิดหรือบาปของคุณก่อน พระเยซูตรัสว่า นี่เป็นวิธีที่จะมองสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น "เอาท่อนซุงออกจากนัยน์ตาของตนเองเสียก่อนเกิด แล้วจะมองเห็นได้ชัดเจนพอที่จะเขี่ยผงออกจากนัยน์ตาของพี่น้องได้" (มัทธิว 7:5 ประชานิยม)

เนื่องจากเราทุกคนมีจุดบอด คุณอาจจำเป็นต้องขอบุคคลที่สามให้ช่วยประเมิณการกระทำของคุณเอง ก่อนที่จะพบกับคนที่คุณขัดแย้งด้วย และขอพระเจ้าทรงเปิดเผยแก่คุณว่า ปัญหานี้เป็นความผิดของคุณมากแค่ไหน ถามว่า "ผมคือผู้ก่อปัญหาหรือเปล่า ผมไม่สมเหตุสมผล หรืออ่อนไหวเกินไปหรือเปล่า" พระคัมภีร์กล่าวว่า "ถ้าเรากล่าวว่าเราไม่มีบาป เราก็หลอกตัวเอง" (1 ยอห์น 1:8 2002)

การสารภาพเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการคืนดี บ่อยครั้ง วิธีที่เราจัดการกับความขัดแย้งกลับทำให้เจ็บปวดยิ่งกว่าปัญหาเริ่มแรกเสียอีก แต่เมื่อคุณเริ่มถ่อมใจยอมรับความผิดของคุณ มันก็จะละลายความโกรธของอีกฝ่าย และปลดอาวุธที่เขาจะใช้โจมตี เพราะพวกเขาคงคาดว่าคุณจะปกป้องตัวเอง อย่าแก้ตัวหรือโทษคนอื่น จงยอมรับเรื่องที่คุณเป็นฝ่ายผิดในความขัดแย้งนี้ด้วยความจริงใจ ยอมรับผิดชอบความผิดพลาดของคุณ และขอการยกโทษ

โจมตีปัญหา ไม่ใช่โจมตีคนนั้น คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถ้าคุณพยายามแก้ตัวซึ่งคุณต้องเลือกเอา พระคัมภีร์กล่าวว่า "คำตอบที่อ่อนหวานช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป แต่คำกักขฬะเร้าโทสะ" (สุภาษิต 15:1) คุณไม่สามารถอธิบายให้เขาเข้าใจได้ถ้าคุณโกรธ ดังนั้นจงเลือกคำพูดของคุณอย่างฉลาด คำตอบที่นุ่มนวล ดีกว่าการพูดประชดประชันเสมอ

ในการแก้ไขความขัดแย้ง วิธีที่คุณพูดมีความสำคัญพอ ๆ กับสิ่งที่คุณพูด ถ้าคุณพูดแบบรุกราน อีกฝ่ายก็จะตอบสนองแบบตั้งรับ พระเจ้าตรัสบอกเราว่า "คนที่ฉลาดและเป็นผู้ใหญ่มีชื่อเสียงเรื่องความเข้าใจของเขา ยิ่งคำพูดของเขาไพเราะเท่าใด เขาก็ยิ่งจูงใจได้ดีเท่านั้น" (สุภาษิต 16:21 TEV) การเหน็บแนมไม่เคยใช้ได้ผล คุณจะจูงใจใครไม่ได้เลย เมื่อคุณหยาบคาย

ระหว่างสงครามเย็น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าอาวุธบางชนิดมีอำนาจทำลายล้างสูงมากจนไม่ควรจะนำมาใช้ เวลานี้อาวุธเคมีและชีวภาพถูกห้าม และคลังอาวุธนิวเคลียร์ก็ถูกลดจำนวนและถูกทำลาย เพื่อเห็นแก่สามัคคีธรรม คุณจะต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทางความสัมพันธ์ อันได้แก่ การกล่าวโทษ การดูหมิ่น การเปรียบเทียบ การตั้งฉายา การดูถูก การเหยียดหยาม และการเหน็บแนม เปาโลสรุปไว้ดังนี้ "อย่าพูดให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจเมื่อสนทนากัน แต่จงใช้วาจาที่จะช่วยกันส่งเสริมเขาให้ดีขึ้นในด้านที่เขาบกพร่อง เพื่อวาจาที่ท่านกล่าวออกไปจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง" (เอเฟซัส 4:29 ประชานิยม)

ร่วมมือให้มากที่สุด เปาโลกล่าว่า "จงทำทุกสิ่งเท่าที่จะทำได้ตามหน้าที่ของท่านเพื่อที่จะได้อยู่กับคนทั้งปวงอย่างสงบสุข" (โรม 12:18 ประชานิยม) สันติภาพมักจะมีราคาค่างวด บางครั้งเราต้องยอมทิ้งความเย่อหยิ่ง มันมักเรียกร้องให้เราสละความเห็นแก่ตัวของเรา เพื่อเห็นแก่สามัคคีธรรม จงพยายามสุดความสามารถเพื่อจะประนีประนอมปรับตัวเข้ากับคนอื่น และเลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการ (โรม 12:10; ฟีลิปปี 2:3) พระคัมภีร์ฉบับถอดความฉบับหนึ่งกล่าวถึง "ผู้เป็นสุข" ประการที่เจ็ดของพระเยซูว่า "ท่านจะเป็นสุขเมื่อท่านสามารถแสดงให้คนอื่นเห็นวิธีที่จะร่วมมือแทนที่จะแข่งขันหรือต่อสู้ นั่นคือเวลาที่ท่านค้นพบว่าแท้จริงท่านเป็นใคร รวมทั้งฐานะของท่านในครอบครัวของพระเจ้า" (มัทธิว 5:9 Msg)

เน้นที่การคืนดี ไม่ใช่การแก้ปัญหา มันไม่สมเหตุสมผลที่จะคาดหวังว่า ทุกคนต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง การคืนดีเน้นที่ความสัมพันธ์ ขณะที่การแก้ปัญหาเน้นที่ปัญหา เมื่อเราจดจ่อที่การคืนดี ปัญหาก็จะหมดความสำคัญ และมักจะไม่เกี่ยวข้อง

เราสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่ได้แม้แต่ในเวลาที่เราไม่สามารถแก้ไขความเห็นที่ไม่ตรงกัน คริสเตียนมักจะมีความไม่เห็นพ้องที่เกิดจากเหตุผลอันชอบธรรมและจริงใจแต่เราสามารถเห็นไม่ตรงกันโดยไม่ต้องขัดแย้ง เพชรเม็ดเดียวดูต่างกันเมื่อมองคนละมุมพระเจ้าทรงคาดหวังความเป็นหนึ่ง ไม่ใช่ความเหมือน และเราสามารถเดินไปด้วยกันได้โดยไม่ต้องเห็นตรงกันในทุกเรื่อง

นี่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะเลิกหาคำตอบ คุณอาจจะต้องคุยกันหรือแม้กระทั่งโต้แย้งกันต่อไป แต่คุณทำด้วยวิญญาณของการปรองดอง การคืนดีหมายความว่าคุณฝังขวานของคุณ แต่ไม่จำเป็นต้องฝังปัญหา

จากบทนี้ คุณจะต้องติดต่อกับใครบ้าง คุณต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์กับใคร อย่าคอยแม้วินาทีเดียว เวลานี้จงหยุดทำสิ่งอื่น และคุยกับพระเจ้าเกี่ยวกับคนนั้น แล้วหยิบโทรศัพท์และเริ่มกระบวนการเจ็ดขั้นตอนนี้ เรียบง่าย แต่ไม่ใช่สิ่งที่ทำง่าย มันต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ นั่นคือเหตุผลที่เปโตรวิงวอนว่า "จงทุ่มเทการอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างสันติ" (1 เปโตร 3:11 NLT) แต่เมื่อคุณทุ่มเทเพื่อสันติคุณกำลังทำสิ่งที่พระเจ้าจะทรงทำ นั่นคือเหตุผลที่พระเจ้าทรงเรียกผู้สร้างสันติว่า ลูกของพระองค์ (มัทธิว 5:9)

วันที่ 20 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ความสัมพันธ์เป็นสิ่งคุ้มค่าแก่การรื้อฟื้นเสมอ

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "จงทำทุกสิ่งเท่าที่จะทำได้ตามหน้าที่ของท่าน เพื่อจะได้อยู่กับคนทั้งปวงอย่างสงบสุข" โรม 12:18 (ประชานิยม)

คำถามสำหรับการพิจารณา: ฉันต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับใครในวันนี้

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 19 การสร้างชุมชน

ท่านจะสามารถสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและทรงพลัง ซึ่งใช้ชีวิตอย่างถูกต้องจำเพาะพระเจ้า และได้รับผลประโยชน์จากชุมชนนั้น ก็ต่อเมื่อท่านได้ทุ่มเทที่จะปรองดองกัน โดยปฏิบัติต่อกันและกันอย่างให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรี
ยากอบ 3:18

เขาทั้งหลายอุทิศตัวเพื่อฟังคำสอนของอัครทูต และร่วมสามัคคีธรรมรวมทั้งหักขนมปัง (ทานอาหาร) และอธิษฐาน
กิจการ 2:42 (2002)

ชุมชนต้องมีการอุทิศตัว

พระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่สามารถสร้างสามัคคีธรรมแท้ระหว่างผู้เชื่อ แต่พระองค์ทรงเสริมสร้างสามัคคีธรรมนี้ด้วยการตัดสินใจและการอุทิศตัวของเรา เปาโลชี้ให้เห็นความรับผิดชอบที่ควบคู่กันทั้งสองฝ่ายนี้ เมื่อท่านกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายผูกพันกันด้วยสันติภาพโดยทางพระวิญญาณ ดังนั้นจงพยายามสุดความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันเช่นนี้ต่อไป" (เอเฟซัส 4:3 NLV) การสร้างชุมชนคริสเตียนที่มีความรักนั้น ต้องใช้ทั้งฤทธิ์เดชของพระเจ้าและความพยายามของเรา

น่าเสียดาย หลายคนเติบโตมาในครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่ดี ดังนั้นพวกเขาจึงขาดทักษะด้านความสัมพันธ์ที่จำเป็นสำหรับสามัคคีธรรมที่แท้จริง พวกเขาต้องได้รับการสอนให้ปรับตัวเข้าหาคนอื่น และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นในครอบครัวของพระเจ้าแต่ยังดีที่พระคัมภีร์ใหม่มีคำสั่งสอนเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันมากมาย เปาโลเขียนว่า "ข้าพเจ้าเขียนข้อความนี้ถึงท่านก็เพื่อว่า… ท่านจะได้รู้ว่าควรจะประพฤติอย่างไร ครอบครัวของพระเจ้าคือคริสตจักร" (1 ทิโมธี 3:14-15)

ถ้าคุณเบื่อสามัคคีธรรมเทียม และอยากจะสร้างสามัคคีธรรมแท้ และชุมชนที่มีความรักขึ้นในกลุ่มย่อย ชั้นเรียนรวีวารศึกษา และคริสตจักรของคุณ คุณจะต้องตัดสินใจทำเรื่องยาก ๆ บางอย่าง และยอมเสี่ยงบางสิ่ง

การสร้างชุมชนต้องอาศัยการเปิดเผย คุณจะต้องห่วงใยพอที่จะพูดความจริงด้วยใจรักแม้แต่ในเวลาที่คุณอยากจะเลี่ยงหรือละเลยปัญหานั้น มันง่ายกว่าที่จะเงียบเฉยขณะที่คนอื่นรอบตัวเรากำลังทำลายตัวเอง หรือทำลายคนอื่นด้วยวิถีชีวิตที่ทำบาป แต่นี่ไม่ใช่เป็นการกระทำแห่งความรัก คนส่วนใหญ่ไม่รักเขาพอที่จะบอกความจริง (แม้เมื่อมันเจ็บปวด) พวกเขาจึงทำลายตัวเองต่อไป เรามักจะรู้สิ่งที่เราจำเป็นต้องพูดกับคนอื่น แต่ความกลัวขัดขวางเราไม่ให้พูดอะไรทั้งสิ้น สามัคคีธรรมของหลาย ๆ คริสตจักรถูกทำลายโดยความกลัว เพราะไม่มีใครกล้าพอที่พูดในเวลาที่ชีวิตของสมาชิกกำลังแย่

พระคัมภีร์บอกให้เรา "พูดความจริงด้วยความรัก" (เอเฟซัส 4:15 2002) เพราะว่าเราไม่สามารถมีชุมชนโดยปราศจากความตรงไปตรงมา ซาโลมอนกล่าวว่า "คำตอบที่จริงใจเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพแท้" (สุภาษิต 24:26 TEV) บางครั้ง เรื่องนี้หมายถึงการห่วงใยพอที่จะใช้ความรักตำหนิคนที่ทำบาปหรือถูกทดลองให้ทำบาป เปาโลกล่าวว่า "พี่น้องทั้งหลาย หากใครถูกจับได้ว่าทำบาป ท่านที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณควรช่วยเขาอย่างสุภาพอ่อนโยนให้เขากลับตั้งตัวใหม่" (กาลาเทีย 6:1-2 อมตธรรมร่วมสมัย)

คริสตจักรหลายแห่งและกลุ่มย่อยหลายกลุ่มรู้จักกันอย่างฉาบฉวย เพราะกลัวความขัดแย้ง เมื่อไรก็ตามที่ปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตึงเคลียดหรืออึดอัดใจ มันจะถูกละเลยทันทีเพื่อรักษาความสงบสุขจอมปลอมเอาไว้ คนที่ไม่ชอบความขัดแย้งจะกระโดดเข้ามาและพยายามทำให้เหตุการณ์สงบ ดังนั้น ปัญหาจึงไม่เคยได้รับการแก้ไข และทุกคนก็อยู่โดยเก็บความไม่พอใจไว้เงียบ ๆ ทุกคนรู้ถึงปัญหา แต่ไม่มีใครพูดถึงอย่างเปิดเผย สิ่งนั้นจะสร้างบรรยากาศแห่งความลับที่เลวร้าย ซึ่งการซุบซิบนินทาจะเฟื่องฟู แต่การแก้ไขของเปาโลนั้นเป็นอย่างตรงไปตรงมาคืิอ "จงเลิกพูดมุสา เลิกเสแสร้ง จงพูดความจริงกับเพื่อนบ้านของท่าน เราทุกคนผูกพันกันอยู่ในพระกายของพระคริสต์ เมื่อท่านโกหกคนอื่น ท่านก็โกหกตัวเอง" (เอเฟซัส 4:25 Msg)

สามัคคีธรรมแท้ ไม่ว่าในการสมรส มิตรภาพ หรือคริสตจักรของคุณนั้นขึ้นอยู่กับความตรงไปตรงมา ที่จริง อุโมงค์แห่งความขัดแย้งนั้นเป็นเส้นทางสู่ความสนิทสนมในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ตราบใดที่คุณไม่มีความห่วงใยพอที่จะเผชิญหน้าและแก้ไขอุปสรรคที่แฝงเร้นอยู่นั้น คุณก็จะไม่มีทางจะใกล้ชิดกันได้ แต่เมื่อความขัดแย้งถูกจัดการอย่างถูกต้อง เราจะใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยการเผชิญหน้า และจัดการกับความแตกต่างของเรา พระคัมภีร์กล่าวว่า "ในที่สุดคนจะชื่นชมความตรงไปตรงมามากกว่าการป้อยอ" (สุภาษิต 28:23 NLT)

ความตรงไปตรงมาไม่ใช่ใบเบิกทางให้คุณพูดอะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ หรือเวลาใดก็ได้ที่คุณต้องการ พระคัมภีร์บอกเราว่า มีเวลาที่เหมาะสมและวิธีที่ถูกต้องในการทำทุกสิ่ง (ปัญญาจารย์ 8:6) คำพูดที่ไร้ความคิดย่อมทิ้งรอยแผลอันถาวร พระเจ้าทรงบอกให้เราพูดกับแต่ละคนในคริสตจักรเหมือนพูดกับสมาชิกที่รักในครอบครัว "อย่าด่าว่าคนที่สูงอายุแต่ให้เตือนเหมือนว่าคน ๆ นั้นเป็นพ่อ ส่วนพวกหนุ่ม ๆ ก็เตือนเหมือนพวกเขาเป็นพี่น้อง ส่วนหญิงสูงอายุก็เตือนเหมือนเธอเป็นแม่ ส่วนสาว ๆ ก็เตือนเหมือนกับพวกเธอเป็นพี่น้อง" (1 ทิโมธี 5:1-2 อ่านเข้าใจง่าย)

น่าเศร้าที่สามัคคีธรรมนับพัน ๆ กลุ่มถูกทำลายไปเพราะขาดความเปิดเผย เปาโลตำหนิคริสตจักรโครินธ์เพราะพวกเขาเงียบเฉย และพวกเขาปล่อยให้มีการล่วงประเวณีในคริสตจักรของพวกเขา เนื่องจากไม่มีใครกล้าตำหนิเรื่องนี้ ท่านจึงกล่าวว่า "พวกท่านจะแกล้งมองไม่เห็นและหวังว่าเรื่องจะจบไปเองไม่ได้ จงเปิดเผยและจัดการกับปัญหานี้…แม้จะต้องเจ็บปวดและเสียหน้าก็ยังดีกว่าถูกพิพากษา… ท่านทำราวกับว่านี่เป็นเรื่องเล็ก แต่มันไม่ใช่… ท่านไม่ควรทำเหมือนกับว่าทุกสิ่งเรียบร้อยดี ในเมื่อคนหนึ่งท่ามกลางพี่น้องคริสเตียนของท่านประพฤติส่ำส่อน หรือคดโกง มีเล่ห์เหลี่ยมกับพระเจ้า หรือหยาบคายต่อมิตรสหาย เมาสุรา หรือโลภ และเบียดเบียน ท่านไม่สามารถปล่อยไว้ได้ โดยทำราวกับว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ ข้าพเจ้าไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่คนภายนอกทำ แต่เรามีความรับผิดชอบต่อคนที่อยู่ภายในชุมชนผู้เชื่อของเรามิใช่หรือ" (1 โครินธ์ 5:3-12 Msg)

การสร้างชุมชนต้องอาศัยความถ่อมใจ ความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ ความเชื่อมั่น และยโสดื้อรั้น เป็นตัวการทำลายสามัคคีธรรมได้เร็วยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ความเย่อหยิ่งสร้างกำแพงระหว่างผู้คนแต่ความถ่อมใจสร้างสะพาน ความถ่อมใจเป็นน้ำมันที่ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นและผ่อนคลาย นั่นคือเหตุผลที่พระคัมภีร์กล่าวว่า "ท่านจงสวมความถ่อมใจในการปฏิบัติต่อกันและกัน" (1 เปโตร 5:5ข NIV) เสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับการสามัคคีธรรมคือท่าทีแห่งความถ่อมใจ

ส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ข้อนี้กล่าวว่า "… ด้วยว่าพระเจ้าทรงเป็นปฏิปักษ์กับคนเหล่านั้นที่ถือตัวจองหอง แต่พระองค์ทรงสำแดงพระคุณแก่คนที่อ่อนน้อมถ่อมตน" (1 เปโตร 5:5ค) นี่คือเหตุผลอีกประการที่เราต้องถ่อมใจ ความเย่อหยิ่งคือสิ่งที่ขัดขวางพระคุณของพระเจ้าในชีวิตเรา คือพระคุณที่เราจำเป็นต้องได้รับเพื่อจะเติบโต เปลี่ยนแปลงบำบัด และช่วยเหลือคนอื่น เราได้รับพระคุณของพระเจ้าโดยการถ่อมใจยอมรับว่า เราจำเป็นต้องได้รับพระคุณนั้น พระคัมภีร์กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเย่อหยิ่ง เรากำลังดำเนินชีวิตเป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า นั่นเป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่โง่เขลาและอันตราย

คุณสามารถฝึกความถ่อมใจในทางปฏิบัติได้คือ โดยการยอมรับความอ่อนแอของคุณ อดทนต่อความอ่อนแอของคนอื่น ยอมรับฟังคำตักเตือน และยกย่องคนอื่น เปาโลแนะนำว่า "จงอยู่อย่างปรองดองกัน อย่าทำตัวเป็นคนสำคัญ แต่จงอยู่ร่วมกับคนสามัญและอย่าคิดว่า ตัวรู้ทุกอย่าง" (โรม 12:16 NLT) และท่านเขียนถึงคริสเตียนที่เมืองฟีลิปปีว่า "จงให้เกียรติคนอื่นมากกว่าให้เกียรติตัวเอง อย่าสนใจแต่ชีวิตของตน แต่จงสนใจชีวิตของคนอื่น" (ฟีลิปปี 2:3-4 NCV)

ความถ่อมใจไม่ใช่การคิดว่าตัวเองต่ำต้อย แต่เป็นการคิดถึงตัวเองน้อยลง เป็นการคิดถึงคนอื่นมากขึ้น คนถ่อมใจจะจดจ่อที่การรับใช้คนอื่น จนพวกเขาไม่คิดถึงตัวเอง

การสร้างชุมชนต้องอาศัยความสุภาพ ความสุภาพคือการเคารพความเห็นที่แตกต่าง การห่วงใยความรู้สึกของคนอื่น และอดทนต่อคนที่กวนใจเรา พระคัมภีร์บอกว่า "เราต้องรับ "ภาระ" ที่จะใส่ใจต่อความสงสัยและความกลัวของคนอื่น" (โรม 15:2 LB) เปาโลบอกทิตัสว่า คนของพระเจ้าควรจะ "สุภาพอ่อนโยนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับทุกคน" (ทิตัส 3:2 อ่านเข้าใจง่าย)

ทุกคริสตจักรและทุกกลุ่มย่อยมักจะมี "ตัวปัญหา" อย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ แต่โดยทั่วไปจะมีมากกว่าหนึ่งคน คนเหล่านี้อาจจะมีความต้องการทางอารมณ์เป็นพิเศษ ความหวั่นไหวลึก ๆ อุปนิสัยที่กวนใจ หรือทักษะทางสังคมที่ไม่ดี คุณอาจจะเรียกพวกเขาว่า "คนที่ต้องการพระคุณมากเป็นพิเศษ"

พระเจ้าทรงใช้คนเหล่านี้อยู่ท่ามกลางเราเพื่อประโยชน์ทั้งของเขาและของเรา พวกเขาคือโอกาสที่สามัคคีธรรมจะเติบโตและถูกทดสอบ นั่นคือเราจะรักพวกเขาอย่างพี่น้อง และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมีศักดิ์ศรีหรือไม่

ในครอบครัวนั้น การยอมรับไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฉลาด ความสวย หรือความสามารถแต่ขึ้นอยู่กับการที่เราเป็นของกันและกัน เราป้องกันและคุ้มครองครอบครัว สมาชิกในครอบครัวอาจทำตัวตัวงี่เง่า แต่เขาก็เป็นคนหนึ่งในพวกเรา ในทำนองเดียวกัน พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงรักกันฉันพี่น้อง จงขวนขวายในการให้เกียรติกันและกัน" (โรม 12:10 2002)

ความจริงคือว่า เราทุกคนมีพฤติกรรมแปลก ๆ และนิสัยที่น่ารำคาญ แต่ชุมชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนต้องเข้ากันได้เหมาะเจาะ พื้นฐานแห่งสามัคคีธรรมของเราคือความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า นั่นคือเราเป็นครอบครัว

กุญแจสู่ความสุภาพคือการเข้าใจภูมิหลังของคนอื่น ลองศึกษาประวัติความเป็นมาของพวกเขาดู เมื่อคุณรู้ว่าพวกเขาผ่านอะไรมา คุณก็จะเข้าใจเขามากขึ้น แทนที่จะคิดว่าพวกเขายังต้องปรับปรุงอีกมากเพียงไร ให้คุณคิดว่าพวกเขามาได้ไกลแค่ไหนแล้วทั้ง ๆ ที่มีบาดแผล

อีกส่วนหนึ่งของความสุภาพคือ การไม่ดูหมิ่นความสงสัยของผู้อื่น เพียงแค่คุณไม่กลัวบางสิ่งบางอย่าง ก็ไม่ได้ทำให้ความกลัวสิ่งที่ว่านั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ชุมชนแท้เกิดขึ้นเมื่อคนรู้ว่า ที่นี่ปลอดภัยพอที่จะเปิดเผยความสงสัยและความกลัวโดยเขาจะไม่ถูกพิพากษา

การสร้างชุมชนต้องอาศัยการรู้จักเก็บความลับ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีการยอมรับอย่างอบอุ่น และสามารถไว้ใจว่าคนอื่นจะเก็บความลับเท่านั้น ผู้คนจึงจะเปิดเผยความเจ็บปวด ความต้องการ และผิดพลาดที่ลึกที่สุดของพวกเขา การเก็บความลับไม่ได้หมายความว่าต้องเงียบเฉยเมื่อพี่น้องทำบาป แต่หมายความว่า ต้องเก็บสิ่งที่พูดในกลุ่มไว้เป็นความลับเฉพาะในกลุ่ม โดยกลุ่มต้องจัดการกับเรื่องนี้ไม่ใช่เอาไปนินทาให้คนอื่นฟัง

พระเจ้าทรงเกลียดชังการนินทา โดยเฉพาะเมื่อมันแอบแฝงมาในรูป "หัวข้ออธิษฐาน" เผื่อคนอื่น พระเจ้าตรัสว่า "คนชั่วนินทาพาปากบอน ยุงยงสอนให้เพื่อนแยกแตกร้าวกัน" (สุภาษิต 16:28 ประชานิยม) การนินทามักจะทำให้เจ็บปวด เกิดความแตกแยก และทำลายสามัคคีธรรม และพระเจ้าตรัสชัดเจนมากว่า เราต้องตำหนิเรื่องการกระทำที่ก่อให้เกิดความแตกแยก คนเหล่านั้นอาจจะโกรธและออกไปจากกลุ่ม แต่สามัคคีธรรมของคริสตจักรนั้นสำคัญกว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด

การสร้างชุมชนต้องอาศัยการความถี่ คุณต้องพบปะกับคนในกลุ่มบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ เพื่อสร้างสามัคคีธรรมแท้ ความสัมพันธ์ต้องอาศัยเวลา พระคัมภีร์บอกเราว่า "อย่าให้เราหยุดการมาประชุมร่วมกันจนเป็นนิสัยอย่างที่บางคนทำอยู่ แต่ให้เราหนุนใจกันและกัน" (ฮีบรู 10:25 TEV) เราต้องฝึกนิสัยการประชุมร่วมกัน นิสัยคือสิ่งที่คุณทำบ่อยครั้ง ไม่ใช่ชั่วคราว คุณต้องพบปะกับคนหลาย ๆ ครั้ง จึงจะสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง นี่คือเหตุผลที่คริสตจักรหลายแห่งมีสามัคคีธรรมแบบฉาบฉวย เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกันนานพอและเวลาที่เราอยู่ด้วยกันก็มักจะเป็นการฟังคน ๆ เดียวพูด

ชุมชนไม่ได้สร้างขึ้นบนความสะดวก (เราจะพบปะกันเมื่อฉันอยากพบ) แต่สร้างบนความเชื่อมั่นว่า ฉันต้องการชุมชนนี้เพื่อสุขภาพฝ่ายวิญญาณ ถ้าคุณต้องการสร้างสามัคคีธรรมแท้ นั่นหมายถึงการพบกันแม้เมื่อคุณไม่รู้สึกอยาก แต่เพราะคุณเชื่อว่านี่คือ สิ่งสำคัญคริสเตียนยุคแรกพบกันทุกวัน "ทุกวันพวกเขาจะเข้าไปนมัสการพระเจ้าร่วมกันในพระวิหารไปรับประทานอาหารด้วยกันตามบ้านด้วยความยินดีและถ่อมใจ" (กิจการ 2:46 ประชานิยม)

ถ้าคุณเป็นสมาชิกของกลุ่มย่อยหรือชั้นเรียน ผมขอวิงวอนให้คุณทำพันธสัญญาของกลุ่ม ซึ่งครอบคลุมลักษณะเก้าประการของสามัคคีธรรมตามแบบพระคัมภีร์ คือเราจะบอกความรู้สึกที่แท้ของเรา (เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง) หนุนใจกันและกัน (พึ่งพากันและกัน) สนับสนุนกัน (เห็นอกเห็นใจ) ยกโทษให้กัน (เมตตา) พูดความจริงด้วยใจรัก (เปิดเผย) ยอมรับความอ่อนแอของเรา (ถ่อมใจ) เคารพความแตกต่างของเรา (สุภาพ) ไม่นินทา (เก็บความลับ) และให้ความสำคัญกับกลุ่ม (ความถี่)

เมื่อคุณอ่านรายการลักษณะเหล่านี้แล้ว คุณคงเห็นได้ชัดว่า เพราะเหตุใดสามัคคีธรรมแท้จึงมีน้อยมาก มันหมายถึงการเลิกเห็นแก่ตัว และเลิกอยู่แบบเป็นเอกเทศ เพื่อจะพึ่งพาอาศัยกัน แต่ประโยชน์ของการใช้ชีวิตร่วมกันนั้นมีมาก คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมเราสำหรับแผ่นดินสวรรค์

วันที่ 19 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ชุมชนต้องมีความตั้งใจที่จะอุทิศตัว

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "เราจึงรู้จักความรัก โดยที่พระองค์ได้ทรงยอมสละพระชนม์ของพระองค์เพื่อเราทั้งหลาย และเราทั้งหลายก็ควรจะสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้อง" 1 ยอห์น 3:16

คำถามสำหรับการพิจารณา: ณ เวลานี้ ฉันจะช่วยปลูกฝังลักษณะของชุมชนแท้ในกลุ่มย่อยหรืิอคริสตจักรของฉันได้อย่างไร

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 18 เผชิญชีวิตร่วมกัน

พระเจ้าทรงเรียกท่านให้ปรองดองกัน ดุจเป็นอวัยวะในกายเดียวกัน
โคโลสี 3:15 (ประชานิยม)

ดูเถิด ซึ่งพี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็เป็นการดีและน่าชื่นใจมากสักเท่าใด
สดุดี 133:1

ชีวิตนั้นมีไว้เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น

พระเจ้าต้องการให้เรามีประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน พระคัมภีร์เรียกการมีประสบการณ์ร่วมกันนี้ว่าสามัคคีธรรม แต่ทุกวันนี้ คำนี้ได้สูญเสียความหมายส่วนใหญ่ตามพระคัมภีร์ไปแล้ว "สามัคคีธรรม" มักจะหมายถึงการคุยเล่นกัน การเข้าสังคม อาหาร และความสนุก คำถามว่า "คุณไปสามัคคีธรรมที่ไหน" แปลว่า "คุณเข้าโบสถ์ที่ไหน" คำว่า "อยู่ต่อเพื่อสามัคคีธรรม" ก็มักจะแปลว่า "คอยเครื่องดื่ม"

สามัคคีธรรมที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แค่การมาร่วมนมัสการ แต่เป็นการมีประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว การพูดอย่างเปิดเผย การรับใช้ที่เป็นการกระทำ การให้อย่างเสียสละ การปลอบโยนด้วยความเห็นใจ รวมทั้งคำสั่งอื่น ๆ ทั้งหมดในพระคัมภีร์ใหม่ที่มีคำว่า "ซึ่งกันและกัน"

เมื่อพูดถึงการสามัคคีธรรม จำนวนคนก็มีความสำคัญ คือยิ่งน้อยยิ่งดี คุณสามารถร่วมนมัสการกับฝูงชน แต่คุณไม่สามารถสามัคคีธรรมกับฝูงชน เมื่อกลุ่มมีจำนวนมากกว่าสิบคน บางคนจะหยุดมีส่วนร่วม ซึ่งโดยทั่วไปก็คือคนที่เงียบที่สุด และจะมีบางคนครอบงำกลุ่ม

พระเยซูทรงปรนนิบัติในบริบทของกลุ่มสาวกที่เล็ก พระองค์เลือกสาวกมากกว่านี้ได้ แต่พระองค์ทรงทราบว่าสิบสองคนเป็นจำนวนที่มากที่สุดซึ่งคุณจะมีได้ในกลุ่มย่อย ถ้าคุณอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม

เช่นเดียวกับร่างกายของคุณ พระกายของคริสต์คือการรวมตัวของเซลล์เล็ก ๆ จำนวนมาก ชีวิตของพระกายของพระคริสต์อยู่ในเซลล์ต่าง ๆ เหมือนกับร่างกายของคุณด้วยเหตุนี้ คริสเตียนทุกคนจึงต้องเข้าร่วมในกลุ่มย่อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามัคคีธรรมตามบ้าน ชั้นเรียนวรีวารศึกษา หรือกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ ชุมชนที่แท้จริงเกิดขึ้นที่นี่ ไม่ใช่ในการประชุมใหญ่ ถ้าคุณคิดว่าคริสตจักรของคุณเป็นเรือใหญ่ กลุ่มย่อยก็เปรียบเสมือนเรือชูชีพเล็ก ๆ ที่ผูกติดกับเรือลำนั้น

พระเจ้าประทานพระสัญญาที่เหลือเชื่อเกี่ยวกับผู้เชื่อกลุ่มเล็ก ๆ "ด้วยว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหน ๆ ในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางเขาที่นั่น" (มัทธิว 18:20) น่าเสียดายแม้แต่การอยู่ในกลุ่มย่อยก็ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้พบชุมชนที่แท้จริง ชั้นรวีวารศึกษาและกลุ่มย่อยมากมายยังมีลักษณะผิวเผิน และไม่รู้เลยว่าการสามัคคีธรรม ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างสามัคคีธรรมแท้กับสามัคคีธรรมเทียม

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง สามัคคีธรรมแท้ไม่ใช่การคุยเล่นในระดับผิวเผิน แต่เป็นการพูดอย่างจริงใจ จากใจถึงใจ และบางครั้งก็ลึกถึงก้นบึ้ง มันเกิดขึ้นเมื่อผู้คนเปิดเผยว่าตัวเองเป็นใคร และเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเขา พวกเขาพูดถึงความเจ็บปวด เปิดเผยความรู้สึก สารภาพความล้มเหลว บอกความสงสัย ยอมรับความกลัวและยอมรับความอ่อนแอ และขอความช่วยเหลือรวมทั้งการอธิษฐานเผื่อ

สามัคคีธรรมแท้นั้นตรงข้ามกับสิ่งที่คุณพบในคริสตจักรบางแห่ง แทนที่จะมีบรรยากาศที่เปิดเผยและถ่อมใจ กลับมีการเสแสร้ง เล่นละคร เล่นการเมือง และความสุขภาพแต่เปลือกนอก และคุยกันแบบตื้น ๆ ผู้คนสวมหน้ากาก ระวังตัว และทำเหมือนทุกสิ่งในชีวิตเขาโรยด้วยกลีบกุหลาบ ท่าทีเหล่านี้คือความตายของสามัคคีธรรมแท้

เราจะประสบกับสามัคคีธรรมแท้ก็ต่อเมื่อเราเปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตเรา พระคัมภีร์กล่าวว่า "แต่ถ้าเราดำเนินอยู่ในความสว่างเหมือนอย่างพระองค์ทรงสถิตในความสว่าง เราก็ร่วมสามัคคีธรรมซึ่งกัน… ถ้าเราทั้งหลายจะว่าเราไม่มีบาป เราก็ลวงตนเอง" (1 ยอห์น 1:7-8) โลกคิดว่าความใกล้ชิดเกิดขึ้นในความมืด แต่พระเจ้าตรัสว่ามันเกิดขึ้นในความสว่างความมืดถูกใช้เพื่อซ่อนความเจ็บปวด ความผิด ความกลัว ความล้มเหลว และความบกพร่องของเรา แต่ในความสว่าง เรานำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดออกมาเปิดเผย และยอมรับว่า จริง ๆ แล้วเราเป็นใคร

แน่นอน การเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงนั้นต้องใช้ทั้งความกล้าและความถ่อมใจ มันหมายถึงการเผชิญกับความกลัวที่จะเปิดเผย กลัวถูกปฏิเสธ และถูกทำให้เจ็บอีกครั้ง แล้วทำไมคนเราต้องยอมเสี่ยงเช่นนี้ด้วย ก็เพราะว่า มันเป็นวิธีเดียวที่จะเติบโตฝ่ายวิญญาณ และมีสุขภาพดีในทางอารมณ์ความรู้สึก พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงทำสิ่งนี้เป็นประจำคือ สารภาพบาปต่อกัน และอธิษฐานเพื่อกันและกัน เพื่อท่านทั้งหลายจะอยู่ด้วยกันอย่างแข็งแรง และหายโรค" (ยากอบ 5:16ก Msg) เราเติบโตได้ก็โดยการเสี่ยงเท่านั้นและการเสี่ยงที่ยากที่สุดคือการเปิดเผยต่อตัวเองและผู้อื่น

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะพึ่งพากันและกัน การพึ่งพากันและกันคือศิลปะของการให้และการรับ มันคือการอาศัยซึ่งกันและกัน พระคัมภีร์กล่าวว่า "วิธีที่พระเจ้าออกแบบร่างกายของเราคือภาพที่ทำให้เราเข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะคริสตจักร คืออวัยวะแต่ละส่วนต้องพึ่งพาอวัยวะอื่น ๆ" (1 โครินธ์ 12:25 Msg) การพึ่งพากันและกันนี้เป็นหัวใจของการสามัคคีธรรม คือการสร้างความสัมพันธ์แบบตอบสนอง การแบ่งปันความรับผิดชอบ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปาโลกล่าวว่า "ข้าพเจ้าหมายว่าความศรัทธาของข้าพเจ้าจะได้ช่วยท่าน และความศรัทธาของท่านจะได้ช่วยให้ข้าพเจ้ามีกำลังขึ้น" (โรม 1:12 ประชานิยม)

เราทุกคนจะมีความเชื่อคงเส้นคงวามากขึ้น เมื่อมีคนอื่นเดินอยู่เคียงข้างและหนุนใจเรา พระคัมภีร์บัญชาเราเรื่องการรับผิดชอบรายงานต่อกันและกัน การหนุนใจซึ่งกันและกัน การรับใช้กันและกัน และการให้เกียรติแก่กันและกัน (โรม 12:10) เราได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ "ต่อกันและกัน" และ "ต่อกัน" มากกว่าห้าสิบครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ พระคัมภีร์กล่าวว่า "ให้เรามุ่งประพฤติในสิ่งซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขแก่กันและกัน และทำให้เกิดความเจริญแก่กันและกัน" (โรม 14:19)

คุณไม่ได้รับผิดชอบทุกคนในพระกายของพระคริสต์ แต่คุณมีความรับผิดชอบต่อพวกเขา พระเจ้าคาดหวังว่าคุณจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือพวกเขา

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่การให้คำแนะนำ หรือหยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วแต่ผิวเผิน ความเห็นอกเห็นใจคือการพูดว่า "ผมเข้าใจสิ่งที่คุณเผชิญ และสิ่งที่คุณรู้สึกนั้นไม่ได้แปลกประหลาดหรือบ้าบอ" ปัจจุบัน บางคนเรียกท่าทีนี้ว่า "การมีความรู้สึกร่วม" แต่คำที่พระคัมภีร์ใช้คือ "ความเห็นอกเห็นใจ" พระคัมภีร์กล่าวว่า "ในฐานะที่เป็นพวกที่บริสุทธิ์ จงเห็นอกเห็นใจ มีความปรานี ถ่อมใจ อ่อนสุภาพและอดทนนาน" (โคโลสี 3:12 GWT)

ความเห็นอกเห็นใจตอบสนองความต้องการพื้นฐานสองประการของมนุษย์ คือความต้องการที่จะมีคนเข้าใจ และความต้องการให้คนอื่นรับรองว่าความรู้สึกของตนนั้นถูกต้อง ทุกครั้งที่เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของใครสักคน คุณก็กำลังสร้างสามัคคีธรรม ปัญหาคือ เรามักจะรีบร้อนแก้ปัญหาเสียจนไม่มีเวลาเห็นอกเห็นใจคนอื่น หรือเราหมกมุ่นอยู่กับความเจ็บปวดของเราเอง การสงสารตัวเองจะทำให้ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นแห้งเหือด

สามัคคีธรรมนั้นมีหลายระดับ และแต่ละระดับก็เหมาะสมกับเวลาต่าง ๆ กัน ระดับธรรมดาที่สุดคือ สามัคคีธรรมในการแบ่งบันและสามัคคีธรรมในการศึกษาพระคำของพระเจ้าด้วยกัน ระดับที่ลึกกว่านั้นคือสามัคคีธรรมในการรับใช้ เมื่อเรารับใช้ร่วมกันในการออกเดินทางประกาศ หรือในโครงการช่วยเหลือสังคม ระดับที่ลึกที่สุดคือสามัคคีธรรมในการทนทุกข์ (ฟีลิปปี 3:10) เมื่อเราเข้าไปอยู่ในความเจ็บปวดและความเสียใจของคนอื่นและแบกภาระของกันและกัน คริสเตียนที่เข้าใจสามัคคีธรรมระดับนี้ดีที่สุดคือ ผู้คนทั่วโลกซึ่งถูกข่มเหง ถูกดูหมิ่น และบ่อยครั้งก็ถูกฆ่าเพราะความเชื่อของพวกเขา

พระคัมภีร์สั่งว่า "จงแบ่งเบาความลำบากและปัญหาของกันและกัน จึงจะเป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์" (กาลาเทีย 6:2 NLT) ช่วงเวลาวิกฤต โศกเศร้าและสงสัยอย่างรุนแรง คือเวลาที่เราต้องการกันและกันมากที่สุด เมื่อสถานการณ์บดขยี้เราจนถึงจุดที่ความเชื่อของเราสั่นคลอน นั่นคือเวลาที่เราต้องการเพื่อนคริสเตียนมากที่สุด เราต้องการเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะมีความเชื่อในพระเจ้าเพื่อเรา และที่จะดึงเราผ่านปัญหานั้นในกลุ่มย่อยพระกายของพระคริสต์ก็เป็นจริงและมีตัวตน แม้แต่ในเวลาที่พระเจ้าดูเหมือนอยู่ห่างไกล นี่คือสิ่งที่โยบต้องการอย่างยิ่งในขณะที่ท่านทนทุกข์ ท่านร้องว่า "ชายที่สิ้นหวังควรจะมีเพื่อนคอยใส่ใจ แม้ว่าเขาจะละทิ้งความยำเกรงองค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์" (โยบ 6:14 NIV)

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะได้พบความเมตตา สามัคคีธรรมเป็นสถานที่แห่งความกรุณา ที่ซึ่งความผิดพลาดมีแต่จะถูกลบออกไป ไม่ใช่ถูกตอกย้ำ สามัคคีธรรมเกิดขึ้นเมื่อความเมตตามีชัยเหนือความยุติธรรม

เราทุกคนต้องการความเมตตา เพราะว่าเราทุกคนสะดุดและล้มลง และต้องการความช่วยเหลือให้ลุกขึ้นมาใหม่ เราต้องหยิบยื่นความเมตตาแก่กันและกัน และเต็มใจรับความเมตตาจากกันและกัน พระเจ้าตรัสว่า เมื่อคนทำบาป "ท่านควรจะยกโทษให้เขาและให้กำลังใจเขา เพื่อไม่ให้เขาทุกข์ระทมจนเลิกศรัทธาไป" (2 โครินธ์ 2:7 ประชานิยม)

คุณไม่สามารถมีิสามัคคีธรรมโดยไม่มีการยกโทษ พระเจ้าทรงเตือนว่า "อย่าเก็บความขุ่นเคืองใจไว้" (โคโลสี 3:13 LB) เพราะว่าความข่มขื่นใจและความขุ่นเคืองย่อมจะทำลายสามัคคีธรรม และเนื่องจากเราเป็นคนบาปและไม่สมบูรณ์เพียบพร้อม เมื่อเราอยู่ด้วยกันนานพอ เราจึงทำร้ายกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งเราทำร้ายกันโดยตั้งใจ และบางครั้งก็โดยไม่ตั้งใจ แต่จะแบบใดก็ตาม มันก็ต้องอาศัยความเมตตาและความกรุณาอย่างมากที่จะสร้างและธำรงรักษาสามัคคีธรรมไว้ พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงผ่อนปรนต่อความผิดของกันและกัน และยกโทษให้คนที่ทำผิดต่อท่าน จงระลึกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงยกโทษท่าน ดังนั้นท่านก็ต้องยกโทษให้คนอื่น" (โคโลสี 3:13 NLT)

พระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อเราคือ แรงจูงใจที่เราจะแสดงความเมตตาต่อคนอื่น โปรดจำไว้ว่าพระเจ้าจะไม่ขอให้คุณยกโทษให้ใครมากเกินกว่าที่พระเจ้าได้ทรงยกโทษให้คุณแล้วเมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนทำให้คุณเจ็บ คุณก็มีทางเลือกคือจะใช้กำลังและอารมณ์ตอบโต้ หรือแก้ปัญหา แต่คุณไม่สามารถทำทั้งสองอย่าง

หลายคนลังเลที่จะแสดงความเมตตา เพราะว่าเขาไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการวางใจและการยกโทษ การยกโทษคือการปล่อยให้อดีตผ่านพ้นไป ส่วนการวางใจนั้นเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในอนาคต

การยกโทษต้องทำทันที ไม่ว่าคนนั้นจะขอหรือไม่ ส่วนการวางใจต้องใช้เวลาสร้างขึ้นใหม่ การวางใจต้องอาศัยประวัติที่ดี ถ้าใครทำร้ายคุณซ้ำแล้วซ้ำอีก พระเจ้าทรงสั่งให้คุณยกโทษให้เขาทันที แต่พระเจ้าไม่ได้คาดหวังให้คุณวางใจพวกเขาทันที หรือปล่อยให้พวกเขาทำร้ายคุณต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลง สถานที่ดีที่สุดซึ่งจะกอบกู้ความไว้วางใจกลับคืนมาคือ ในกลุ่มย่อยซึ่งเกื้อหนุน ให้ทำเช่นนั้นคือ กลุ่มที่ให้ทั้งการหนุนใจ และสอนให้คนรับผิดชอบรายงาน

มีผลประโยชน์อีกหลายประการที่คุณจะได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มย่อยที่อุทิศทุ่มเทเพื่อสามัคคีธรรมแท้ นี่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตคริสเตียนที่คุณไม่อาจมองข้ามได้ กว่า 2,000 ปีคริสเตียนได้ร่วมชุมนุมกันในกลุ่มย่อยเพื่อสามัคคีธรรม ถ้าคุณไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือชั้นเรียนเช่นนี้ คุณคงไม่รู้ว่าคุณได้พลาดอะไรไปบ้าง

ในบทต่อไป เราจะมาดูว่าการสร้างชุมชนลักษณะนี้ร่วมกับผู้เชื่อคนอื่น ๆ นั้นต้องอาศัยอะไรบ้าง แต่ผมหวังว่าบทนี้จะทำให้คุณหิวกระหายอยากพบสามัคคีธรรมแท้ที่จริงใจเห็นอกเห็นใจกัน และมีความเมตตา คุณถูกสร้างมาเพื่อชุมชน

วันที่ 18 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ฉันต้องการคนอื่นในชีวิตของฉัน

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "จงแบ่งเบาความลำบากและปัญหาของกันและกัน จึงจะเป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์" กาลาเทีย 6:2 (NLT)

คำถามสำหรับการพิจารณา: มีขั้นตอนใดที่ฉันสามารถทำได้ในวันนี้ เพื่อจะเชื่อมสัมพันธ์กับผู้เชื่ออีกคนหนึ่งในระดับที่ลึกซึ้งและจริงใจมากขึ้น

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 17 เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่ง

บัดนี้ ท่านเป็นพลเมืองเดียวกับประชากรของพระเจ้า เป็นคนในครอบครัวของพระเจ้า
เอเฟซัส 2:19ข (ประชานิยม)

ครอบครัวของพระเจ้า คือคริสตจักรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ อันเป็นเสาหลักและรากฐานแห่งความจริง
1 ทิโมธี 3:15ข (อมตธรรมร่วมสมัย)

คุณได้รับการทางเรียกให้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแต่เชื่อ

แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบปราศจากบาปของสวนเอเดน พระเจ้าก็ยังตรัสว่า "ไม่ควรที่ชายผู้นี้จะอยู่คนเดียว" (ปฐมกาล 2:18) เราถูกสร้างมาสำหรับชุมชน หล่อหลอมสำหรับสามัคคีธรรม และปั้นไว้สำหรับครอบครัว และไม่มีใครในพวกเราสามารถทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จได้ด้วยตัวเอง

พระคัมภีร์ไม่เคยรู้จักธรรมิกชนสันโดษ หรือฤาษีฝ่ายวิญญาณ ที่ปลีกตัวจากผู้เชื่อคนอื่น ๆ และตัดขาดจากสามัคคีธรรม พระคัมภีร์กล่าวว่า เราถูกนำมารวมกัน ต่อกันด้วยกันก่อขึ้นด้วยกัน เป็นอวัยวะของกัน เป็นทายาทร่วมกัน ประสานกันและยึดไว้ด้วยกัน และจะถูกรับขึ้นไปด้วยกัน (1 โครินธ์ 12:12; เอเฟซัส 2:21-22; 3:6; 4:16; โคโลสี 2:19; 1 เธสะโลนิกา 4:17) คุณไม่ได้อยู่แบบเป็นเอกเทศอีกต่อไป

แม้ว่าความสัมพันธ์ของคุณกับพระคริสต์จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่พระเจ้าไม่ประสงค์ให้มันเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ในครอบครัวของพระเจ้า คุณได้รับการผูกสัมพันธ์กับพี่น้องผู้เชื่อทุกคน และเราจะเป็นของกันและกันไปชั่วนิรันดร์ พระคัมภีร์กล่าวว่า "พวกเราผู้เป็นหลายคน ยังเป็นกายอันเดียวในพระคริสต์ และเป็นอวัยวะแก่กันและกัน" (โรม 12:5)

การติดตามพระคริสต์นั้นไม่ใช่แค่การเชื่อ แต่ยังรวมถึงการเป็นส่วนหนึ่ง เราเป็นอวัยวะแห่งพระกายของพระองค์ คือคริสตจักร ซี. เอส. ลุยส์ ให้ข้อสังเกตว่า คำว่าสมาชิกภาพมีจุดเริ่มต้นมาจากคริสเตียน แต่โลกได้ทำให้ความหมายดั้งเดิมสูญหายไป ร้านค้าลดราคาให้ "สมาชิก" และผู้โฆษณาใช้ชื่อสมาชิกเป็นรายนามสำหรับส่งไปรษณีย์ และในคริสตจักร สมาชิกก็มักจะถูกลดบทบาทลงเหลือแค่การเพิ่มชื่อของคุณเข้าไปในทะเบียนโดยไม่มีข้อเรียกร้องหรือความคาดหวังอะไร

สำหรับเปาโล การเป็น "สมาชิก" ของคริสตจักรหมายถึงการเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่มีชีวิต เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ซึ่งเชื่อมต่อกันอยู่ในพระกายของพระคริสต์ (โรม 12:4-5; 1 โครินธ์ 6:5; 12:12-27) เราจำเป็นต้องรื้อฟื้นและถือปฏิบัติตามความหมายของพระคัมภีร์ในเรื่องสมาชิกภาพนี้ คริสตจักรคือร่างกายไม่ใช่อาคาร เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่องค์กร

เพื่อให้อวัยวะในร่างกายคุณสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ อวัยวะเหล่านี้ต้องเชื่อมต่อเข้าด้วยกันกับร่างกายคุณ เช่นเดียวกับคุณที่เป็นหนึ่งในพระกายของพระคริสต์ คุณถูกสร้างมาเพื่อบทบาทเฉพาะตัว แต่คุณจะพลาดวัตถุประสงค์ประการที่สองนี้ถ้าคุณไม่เข้าผูกพันกับคริสตจักท้องถิ่นที่มีชีวิต คุณจะพบบทบาทในชีวิตของคุณผ่านทางความสัมพันธ์ไม่ใช่เมื่อแยกจากกัน ร่างกายที่เรากำลังพูดถึงนี้คือพระกายของพระคริสต์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่ได้รับการเลือกสรร พวกเราแต่ละคนพบความหมายและหน้าที่ของตน ในฐานะส่วนหนึ่งในพระกายของพระองค์ แต่เช่นเดียวกับนิ้วมือหรือนิ้วเท้าที่ถูกตัดออก เราคงทำอะไรได้ไม่มาก" (โรม 12:4-5 Msg)

ถ้าอวัยวะหนึ่งถูกตัดออกไปจากร่างกาย มันก็จะแห้งเหี่ยวและตายไป มันไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเอง และคุณก็เหมือนกัน ชีวิตฝ่ายวิญญาณของคุณจะเหี่ยวแห้งและตายไปในที่สุด (เอเฟซัส 4:6) เมื่อคุณไม่ผูกพันหรือถูกตัดขาดจากสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของคริสตจักรท้องถิ่น นี่คือ เหตุผลที่อาการแรกของความถดถอยฝ่ายวิญญาณมักจะปรากฏเป็นการมานมัสการและร่วมประชุมคริสเตียนรูปแบบอื่นอย่างไม่สม่ำเสมอ เมื่อไรที่เราไม่สนใจการสามัคคีธรรม สิ่งอื่นทั้งหมดก็เริ่มตกต่ำด้วย

สมาชิกภาพในครอบครัวของพระเจ้านั้นหาใช่สิ่งที่ไม่มีผลต่อเนื่อง หรือสิ่งที่ไม่ต้องใส่ใจไม่ คริสตจักรคือแผนการของพระเจ้าสำหรับโลกนี้ พระเยซูตรัสว่า "เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรไม่ได้" (มัทธิว 16:18 2002) คริสตจักรจะไม่มีวันถูกทำลาย และจะดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ จะอยู่นานกว่าจักรวาลนี้ และบทบาทของคุณเช่นกัน คนที่พูดว่า "ผมไม่ต้องการคริสตจักร" นั้น ถ้าไม่ยโส ก็ต้องเป็นคนเขลา คริสตจักรสำคัญมากถึงขนาดที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อคริสตจักร "พระคริสต์ทรงรักคริสตจักร และทรงประทานพระองค์เองเพื่อคริสตจักร" (เอเฟซัส 5:25)

พระคัมภีร์เรียกคริสตจักรว่า "เจ้าสาวของพระคริสต์" และ "พระกายของพระคริสต์" (2 โครินธ์ 11:2; เอเฟซัส 5:27; วิวรณ์ 19:7) ผมนึกไม่ออกว่าตนเองจะสามารถพูดกับพระคริสต์ว่า "ข้าพระองค์รักพระองค์ แต่ข้าพระองค์ไม่ชอบภรรยาของพระองค์" ได้อย่างไรหรือ "ข้าพระองค์ยอมรับพระองค์ แต่ไม่ยอมรับพระกายของพระองค์" แต่เราก็ทำแบบนี้เมื่อเพิกเฉย ดูหมิ่นหรือบ่นว่าคริสตจักร ตรงกันข้าม พระเจ้าบัญชาให้เรารักคริสตจักรมากเท่ากับที่พระคริสต์ทรงรัก พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงรักครอบครัวฝ่ายวิญญาณของท่าน" (1 เปโตร 2:17ข Msg) น่าเศ้าใจที่คริสเตียนหลายคนใช้งานคริสตจักรแต่ไม่รักคริสตจักร

สามัคคีธรรมในท้องถิ่นของคุณ

เกือบจะทุกครั้ง คำว่าคริสตจักรในพระคัมภีร์หมายถึงที่ประชุมท้องถิ่นซึ่งปรากฏต่อสายตา โดยมีข้อยกเว้นสำคัญ ๆ เพียงไม่กี่แห่ง ที่คำนี้หมายถึงผู้เชื่อทุกคนตลอดประวัติศาสตร์ พระคัมภีร์ใหม่ถือว่าคริสเตียนในคริสตจักรท้องถิ่นล้วนเป็นสมาชิกคริสเตียน พวกเดียวที่ไม่ใช่สมาชิกในการสามัคคีธรรมท้องถิ่น ก็คือผู้ที่ถูกคริสตจักรลงวินัยและถูกตัดออกจากการสามัคคีธรรม เพราะเหตุความบาปร้ายแรงที่กระทำต่อส่วนร่วม (1 โครินธ์ 5:11-13; กาลาเทีย 6:1-5)

พระคัมภีร์กล่าวว่า คริสเตียนที่ไม่มีคริสตจักรก็เหมือนอวัยวะที่ไม่มีร่างกาย แกะหลงฝูง หรือเด็กที่ไม่มีครอบครัว ซึ่งเป็นสภาพผิดธรรมชาติ พระคัมภีร์กล่าวว่า "ท่านเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้าร่วมกับคริสเตียนอื่นทุกคน" (เอเฟซัส 2:19ข LB)

วัฒนธรรมปัจเจกนิยมของทุกวันนี้ที่สอนให้คนไม่ขึ้นอยู่กับใคร ได้สร้างลูกกำพร้าฝ่ายวิญญาณเป็นจำนวนมาก คือ "คริสเตียนกระต่าย" ที่กระโดดจากคริสตจักรหนึ่งไปสู่อีกคริสตจักรหนึ่งโดยไม่รู้จักตัวตนของตนเอง ไม่มีความรับผิดชอบต่อใคร หรืออุทิศตัวให้ใคร หลายคนเชื่อว่าเขาเป็น "คริสเตียนที่ดี" ได้โดยไม่ต้องร่วม (หรือแม้กระทั่งมา) คริสตจักรท้องถิ่น แต่พระเจ้าคงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง พระคัมภีร์ให้เหตุผลที่มีน้ำหนักหลายข้อที่เราควรอุทิศตัว และทุ่มเทในการสามัคคีธรรมท้องถิ่น


ทำไมคุณจึงต้องการครอบครัวคริสตจักร

ครอบครัวคริสตจักรบ่งบอกว่าคุณคือผู้เชื่อแท้ ผมไม่สามารถอ้างตนว่ากำลังติดตามพระคริสต์ได้ ถ้าผมไม่อุทิศตัวให้กลุ่มสาวกใดกลุ่มหนึ่งอย่างเจาะจง พระเยซูตรัสว่า "ความรักที่ท่านมีต่อกันและกันจะพิสูจน์ให้โลกรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา" (ยอห์น 13:35 NLT)

เมื่อเรามารวมกันด้วยความรักในฐานะครอบครัวคริสตจักร โดยมีภูมิหลัง เชื้อชาติ และฐานะทางสังคมที่ต่างกัน ก็จะเป็นคำพยานที่มีพลังต่อโลก (กาลาเทีย 3:28 และดู ยอห์น 17:21) ตัวคุณโดยลำพังไม่ใช่พระกายของพระคริสต์ คุณต้องการคนอื่นเพื่อแสดงออกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งในพระกายนั้น เราเป็นพระกายของพระองค์เมื่อเราอยู่ร่วมกัน (1 โครินธ์ 12:27) ไม่ใช่เมื่อเราแยกจากกัน

ครอบครัวคริสตจักรพาคุณออกจากการปลีกตัวในลักษณะที่เห็นแก่ตัว คริสตจักรท้องถิ่นคือห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างปรองดองกันในครอบครัวของพระเจ้า มันเป็นห้องทดลองเพื่อฝึกฝนความรักที่เห็นอกเห็นใจกัน ไม่เห็นแก่ตัวในฐานะสมาชิกที่มีส่วนร่วม คุณเรียนรู้ที่จะสนใจคนอื่น และร่วมประสบการณ์กับคนอื่น "ถ้าอวัยวะอันหนึ่งเจ็บอวัยวะทั้งหมดก็พลอยเจ็บด้วย ถ้าอวัยวะอันหนึ่งได้รับเกียรติ อวัยวะทั้งหมดก็พลอยชื่นชมยินดีด้วย" (1 โครินธ์ 12:26) เราเรียนรู้จักสามัคคีธรรมที่แท้จริง และมีประสบการณ์กับความจริงในพระคัมภีร์ใหม่ เรื่องความผูกพันและพึ่งพาซึ่งกันและกัน ก็ด้วยการพบปะกับผู้เชื่อธรรมดา ๆ และไม่สมบูรณ์เท่านั้น (เอเฟซัส 4:16; โรม 12:4-5; โคโลสี 2:19; 1 โครินธ์ 12:25)

สามัคคีธรรมตามแบบพระคัมภีร์คือการที่เราอุทิศตัวต่อกันและกันเหมือนกับที่เราอุทิศตัวต่อพระเยซูคริสต์ พระเจ้าทรงคาดหวังว่าเราจะให้ชีวิตของเราเพื่อกันและกัน คริสเตียนหลายคนที่รู้จักยอห์น 3:16 กลับไม่รู้จัก 1 ยอห์น 3:16 ที่ว่า "พระคริสต์ได้ทรงยอมสละพระชนม์ของพระองค์เพื่อเราทั้งหลาย และเราทั้งหลายก็ควรจะสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้อง" (1 ยอห์น 3:16) นี่คือลักษณะของความรักที่เสียสละ ซึ่งพระเจ้าทรงคาดหวังให้คุณแสดงออกต่อผู้เชื่อคนอื่นคือ ความเต็มใจที่จะรักพวกเขาแบบเดียวกับที่พระเยซูทรงรักคุณ

ครอบครัวคริสตจักรช่วยคุณพัฒนากล้ามเนื้อฝ่ายวิญญาณ คุณจะไม่มีวันโตเป็นผู้ใหญ่โดยการมาแค่มาร่วมนมัสการและเป็นเพียงผู้ชมเฉย ๆ การมีส่วนร่วมในคริสตจักรท้องถิ่นอย่างเต็มที่เท่านั้นที่จะสร้างพลังฝ่ายวิญญาณ พระคัมภีร์กล่าวว่า "เมื่อแต่ละส่วนทำหน้าที่พิเศษของตน ก็จะช่วยให้ส่วนอื่นเติบโต และเต็มไปด้วยความรัก" (เอเฟซัส 4:16ข NLT)

พระคัมภีร์ใหม่ใช้วลี "ซึ่งกันและกัน" หรือ "ต่อกัน" มากกว่า 50 ครั้ง เราได้รับคำสั่งให้รักกันและกัน อธิษฐานเพื่อกันและกัน หนุนใจกันและกัน ตักเตือนกันและกัน ให้เกียรติกันและกัน อดทนต่อกันและกัน ยกโทษให้กันและกัน ยอมฟังกันและกัน อุทิศตัวให้กันและกัน และงานอื่น ๆ ที่ทำต่อกันอีกมากมาย นี่คือสมาชิกภาพตามแบบพระคัมภีร์ สิ่งเหล่านี้คือ "ความรับผิดชอบในครอบครัว" ของคุณ ซึ่งพระเจ้าทรงคาดหวังให้คุณกระทำผ่านทางคริสตจักรท้องถิ่น แล้วคุณกำลังทำสิ่งเหล่านี้ร่วมกับใคร

มันอาจจะดูเหมือนง่ายที่จะเป็นคนบริสุทธิ์ เมื่อไม่มีคนอื่นคอยขัดขวางสิ่งที่คุณต้องการ แต่นั่นเป็นความบริสุทธิ์ที่จอมปลอมและไม่ได้ผ่านการทดสอบ การปลีกตัวทำให้เกิดการหลอกลวง มันง่ายที่จะหลอกตัวเองให้คิดว่า เราเป็นผู้ใหญ่ในเมื่อไม่มีใครมาทดสอบเรา ความเป็นผู้ใหญ่แท้จะแสดงออกในความสัมพันธ์

เราต้องการมากกว่าพระคัมภีร์ที่จะทำให้เราเติบโต เราต้องการผู้เชื่อคนอื่น เราเติบโตเร็วขึ้นและแข็งแรงขึ้นโดยการเรียนรู้จากกันและกัน และรับผิดชอบต่อกัน เมื่อคนอื่นเล่าสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนพวกเขา ผมก็เรียนรู้และเติบโตด้วย

พระกายของพระคริสต์ต้องการฉัน พระเจ้าทรงมีบทบาทพิเศษสำหรับคุณในครอบครัวของพระองค์ สิ่งนี้เรียกว่า "พันธกิจ" ของคุณ และพระเจ้าได้ประทานของประทานแก่คุณเพื่อภารกิจนี้ "ของประทานฝ่ายวิญญาณนั้นพระเจ้าประทานแก่แต่ละคนเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือคริสตจักรโดยร่วม" (1 โครินธ์ 12:7 NLT)

คริสตจักรท้องถิ่นของคุณคือที่ซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้ เพื่อคุณจะค้นพบ พัฒนา และใช้ของประทาน คุณอาจจะมีงานรับใช้ที่กว้างกว่านั้น แต่นั่นคือส่วนที่เพิ่มเติมจากการรับใช้ในคริสตจักรท้องถิ่น พระเยซูไม่ได้สัญญาว่าจะสร้างพันธกิจของคุณ แต่พระองค์ทรงสัญญาว่าจะสร้างคริสจักรของพระองค์

คุณจะได้ร่วมทำภารกิจของพระคริสต์ในโลกนี้ เมื่อพระเยซูทรงอยู่ในโลกนี้พระเจ้าทรงทำงานผ่านทางร่างกายของพระคริสต์ เวลานี้ พระองค์ทรงใช้พระกายฝ่ายวิญญาณของพระองค์ คริสตจักรคือเครื่องมือของพระเจ้าบนโลกนี้ เราไม่ได้เป็นแบบอย่างความรักของพระเจ้าโดยการรักกันและกันเท่านั้น แต่เราต้องนำความรักนี้ไปยังคนอื่น ๆ ในโลกด้วย นี่เป็นสิทธิพิเศษอันน่าทึ่งซึ่งเราได้รับร่วมกัน ในฐานะอวัยวะในพระกายของพระคริสต์ เราเป็นมือของพระองค์ เท้าของพระองค์ ดวงตาของพระองค์ และหัวใจของพระองค์ พระองค์ทรงทำงานผ่านเราในโลกนี้ เราแต่ละคนมีงานที่ต้องทำประโยชน์ เปาโลบอกเราว่า "พระองค์ทรงสร้างเราแต่ละคนโดยพระเยซูคริสต์ เพื่อให้ร่วมทำงานกับพระองค์ คือการดีที่พระองค์ทรงเตรียมให้เราทำ เป็นงานที่เราควรจะต้องทำ (เอเฟซัส 2:10 Msg)

ครอบครัวคริสตจักรจะช่วยป้องกันคุณไม่ให้หลงหาย ไม่มีใครในพวกเราที่มีภูมิคุ้มกันการทดลอง คุณและผมสามารถทำบาปทุกอย่างได้ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม (1 โครินธ์ 10:12; เยเรมีย์ 17:9; 1 ทิโมธี 1:19) พระเจ้าทรงทราบเรื่องนี้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงมอบหมายหน้าที่ให้เราแต่ละคนรับผิดชอบดูแลกันและกันให้อยู่ในทางของพระเจ้า พระคัมภีร์กล่าวว่า "ท่านจงเตือนสติกันและกันทุกวัน ตลอดเวลาที่เรียกว่า "วันนี้" เพื่อว่าจะไม่มีผู้ใดในพวกท่านมีใจแข็งกระด้างไปเพราะเล่ห์กลของบาป" (ฮีบรู 3:13) คำว่า "อย่ามายุ่งกับฉัน" ไม่ใช่คำพูดของคริสเตียน เราได้รับการทรงเรียกและได้รับพระบัญชาให้มีส่วนในชีวิตของกันและกัน ถ้าคุณรู้ว่าใครสักคนกำลังจิตวิญญาณสั่นคลอนในเวลานี้ คุณก็ต้องรับผิดชอบที่จะไปตามหาและนำเขากลับมาสู่การสามัคคีธรรม ยากอบบอกเราว่า "ถ้าท่านรู้จักใครที่หลงไปจากความจริงของพระเจ้า อย่าเพิกเฉย จงไปตามหาพวกเขา นำพวกเขากลับมา" (ยากอบ 5:19 Msg)

ประโยชน์เกี่ยวเนื่องของคริสตจักรท้องถิ่นคือ คริสตจักรจะให้การปกป้องฝ่ายวิญญาณโดยผู้นำที่อยู่ในทางของพระเจ้า พระเจ้าประทานความรับผิดชอบแก่ผู้นำที่เป็นผู้เลี้ยงแกะให้เฝ้าระวัง ป้องกัน พิทักษ์และดูแลสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของฝูงแกะของเขา (กิจการ 20:28-29; 1 เปโตร 5:1-4; ฮีบรู 13:7,17) พระคัมภีร์บอกเราว่า "งานของพวกเขาคือดูแลจิตวิญญาณของท่าน และพวกเขารู้ว่า พวกเขาต้องรายงานต่อพระเจ้า" (ฮีบรู 13:17 NLT)

ซาตานชอบคริสเตียนที่แยกตัว ตัดขาดจากชีวิตในพระกาย ปลีกตัวจากครอบครัวของพระเจ้า และไม่รับผิดชอบรายงานต่อผู้นำฝ่ายวิญญาณ เพราะมันรู้ว่า พวกเขาป้องกันตัวไม่ได้ และไม่มีกำลังต้านทานเล่ห์กลของมัน

ทั้งหมดล้วนแต่อยู่ในคริสตจักร

ในหนังสือ คริสตจักรที่เคลื่อนไปด้วยวัตถุประสงค์ ที่ผมเขียน ผมอธิบายว่าการเป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักรที่มีสุขภาพดีนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตที่สุขภาพแข็งแรง ผมหวังว่าคุณจะอ่านหนังสือเล่มนั้นด้วย เพราะมันจะช่วยคุณเข้าใจว่า พระเจ้าได้ทรงกำหนดคริสตจักรของพระองค์ไว้เป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้คุณทำวัตถุประสงค์ทั้งห้าประการที่พระองค์กำหนดไว้สำหรับชีวิตคุณสำเร็จ พระองค์ทรงสร้างคริสตจักรเพื่อสนองความจำเป็นที่ลึกที่สุดทั้งห้าประการของคุณ คือ วัตถุประสงค์ที่จะอยู่เพื่อคน ที่จะอยู่ด้วยหลักการที่ใช้ดำเนินชีวิต งานที่จะทำ และพลังที่ใช้ดำเนินชีวิต ไม่มีที่อื่นในโลกที่คุณสามารถรับประโยชน์ทั้งห้าประการนี้ในที่แห่งเดียว

พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับคริสตจักรของพระองค์นั้นก็เหมือนกับวัตถุประสงค์ห้าประการของพระองค์สำหรับคุณ การนมัสการช่วยให้คุณจดจ่อที่พระเจ้า การสามัคคีธรรมช่วยคุณเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาชีวิต การสร้างสาวกช่วยปกป้องความเชื่อของคุณ การรับใช้ช่วยให้คุณค้นพบความสามารถของคุณ การประกาศทำให้ภารกิจของคุณสำเร็จ ไม่มีสิ่งอื่นใดในโลกอีกแล้วที่เหมือนคริสตจักร

ทางเลือกของคุณ

เมื่อเด็กเกิดมา เขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวสากลของมนุษยชาติโดยอัตโนมัติ แต่เด็กคนนั้นก็ยังต้องเป็นสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อจะได้รับการเลี้ยงดูและเอาใจใส่ดูแล และเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาพดีและแข็งแรง เช่นเดียวกัน ในฝ่ายจิตวิญญาณ เมื่อคุณบังเกิดใหม่คุณก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสากลของพระเจ้าทันที แต่คุณยังจำเป็นต้องเป็นสมาชิกในครอบครัวระดับท้องถิ่นของพระเจ้าด้วย

ข้อแตกต่างระหว่างการมาคริสตจักรกับการเป็นสมาชิกคริสตจักร คือ การอุทิศตัว ผู้มาร่วมประชุมเป็นผู้ดูจากข้างสนาม แต่สมาชิกมีส่วนร่วมในงานรับใช้ ผู้ร่วมประชุมเป็นผู้บริโภค สมาชิกเป็นผู้ให้ ผู้ร่วมประชุมต้องการผลประโยชน์ของคริสตจักร โดยไม่ร่วมรับผิดชอบ ดังนั้นพวกเขาจึงเปรียบเสมือนชายหญิงที่ต้องการอยู่ด้วยกันโดยไม่อุทิศตัวให้แก่ชีวิตสมรส

ทำไมการเข้าร่วมในครอบครัวคริสตจักรท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก็เพราะมันเป็นการพิสูจน์ว่าคุณได้อุทิศตัวต่อพี่น้องฝ่ายวิญญาณในทางปฏิบัติ ไม่ใช่แต่ในทางทฤษฏี พระเจ้าต้องการให้คุณรักผู้คนจริง ๆ ไม่ใช่ผู้คนในอุดมคติ คุณสามารถใช้เวลาตลอดชีวิตหาคริสตจักรที่สมบูรณ์แบบ แต่คุณจะไม่มีวันพบ คุณได้รับการทรงเรียกให้รักคนบาปที่ไม่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงทำ

ในพระธรรมกิจการ คริสเตียนในกรุงเยรูซาเล็มอุทิศตัวต่อกันและกันในเรื่องที่เจาะจงมาก พวกเขาอุทิศตัวต่อการสามัคคีธรรม พระคัมภีร์กล่าวว่า "เขาทั้งหลายอุทิศตัวเพื่อฟังคำสอนของบรรดาอัครทูต และร่วมสามัคคีธรรม รวมทั้งหักขนมปัง (ทานอาหาร) และอธิษฐาน" (กิจการ 2:42 2002) พระเจ้าก็ทรงคาดหวังว่าคุณจะอุทิศตัวต่อสิ่งเดียวกันนี้ด้วย

ชีวิตคริสเตียนไม่ใช่แค่การอุทิศตัวต่อพระคริสต์ แต่มันรวมถึงการอุทิศตัวต่อคริสเตียนอื่น ๆ คริสเตียนในแคว้นมาชิโดเนียเข้าใจสิ่งนี้ดี เปาโลกล่าวว่า "พวกเขาได้ถวายตัวเขาเองแด่พระผู้เป็นเจ้าก่อน แล้วได้มอบตัวให้เราตามพระทัยพระเจ้า" (2 โครินธ์ 8:5) การเข้าร่วมเป็นสมาชิกคริสตจักรท้องถิ่นคือ ขั้นตอนตามธรรมชาติต่อจากการที่คุณได้เป็นบุตรของพระเจ้า คุณเป็นคริสเตียนโดยการอุทิศตัวถวายแด่พระคริสต์แต่คุณเป็นสมาชิกคริสตจักร โดยการอุทิศถวายตัวต่อกลุ่มผู้เชื่อที่เจาะจง การตัดสินใจแรกนำไปสู่ความรอด การตัดสินใจที่สองนำเข้าสู่การสามัคคีธรรม

วันที่ 17 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ฉันได้รับการทรงเรียกให้เป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่เพียงแต่เชื่อ

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "พวกเราผู้เป็นหลายคนยังเป็นกายอันเดียวในพระคริสต์และเป็นอวัยวะแก่กันและกัน" โรม 12:5

คำถามสำหรับการพิจารณา: ระดับการมีส่วนร่วมในคริสตจักรท้องถิ่นของฉันบ่งบอกว่าฉันรักและอุทิศตัวต่อครอบครัวของพระเจ้าหรือไม่

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 16 สิ่งที่สำคัญที่สุด

ไม่ว่าข้าพเจ้าพูดอะไร เชื่ออะไร และทำอะไร ข้าพเจ้าล้มเหลวหากปราศจากความรัก
1 โครินธ์ 13:3ข (Msg)

ความรักคือการที่เราดำเนินชีวิตตามบัญญัติของพระองค์ด้วยความเชื่อฟัง ดังที่ท่านได้ยินแล้วตั้งแต่ต้น บัญญัติของพระองค์ คือให้ท่านดำเนินชีวิตในความรัก
2 ยอห์น 1:6 (อมตธรรมร่วมสมัย)

ชีวิตทั้งชีวิตเป็นเรื่องของความรัก

เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก บทเรียนสำคัญที่สุดที่พระองค์ต้องการให้คุณเรียนรู้ในโลกนี้คือ วิธีที่จะรัก เราเป็นเหมือนพระองค์มากที่สุดเมื่อเรารัก ดังนั้นความรักจึงเป็นพื้นฐานของพระบัญชาทุกข้อที่พระองค์ประทานแก่เรา "เพราะว่าธรรมบัญญัติทั้งสิ้นนั้นสรุปได้เป็นคำสั่งเดียวคือ จงรักคนอื่นเหมือนคุณรักตนเอง" (กาลาเทีย 5:14 LB)

การเรียนรู้ที่จะรักอย่างไม่เห็นแก่ตัวไม่ใช่งานที่ง่าย มันฝืนธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวของเรา นี่คือสาเหตุที่พระเจ้าประทานเวลาทั้งชีวิตแก่เราเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้ แน่นอน พระเจ้าต้องการให้เรารักทุกคน แต่พระเจ้าทรงสนใจเป็นพิเศษที่เราจะรักคนอื่น ๆ ในครอบครัวของพระองค์ ตามที่เราได้เห็นแล้วว่า นี่คือวัตถุประสงค์ประการที่สองของชีวิตของคุณ เปโตรบอกเราว่า "จงแสดงความรักต่อคนของพระเจ้าเป็นพิเศษ" (1 เปโตร 2:17ข CEV) เปาโลก็สะท้อนความรู้สึกนี้ว่า "เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาส ให้เราทำดีต่อทุกคน และเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนที่เป็นสมาชิกของครอบครัวแห่งความเชื่อ" (กาลาเทีย 6:10)

ทำไมพระเจ้าทรงเน้นย้ำว่าเราต้องให้ความรักและความสนใจเป็นพิเศษแก่พี่น้อง ทำไมพระองค์ทรงให้พวกเขาให้ความสำคัญกับความรักเป็นอันดับแรก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระองค์ต้องการให้ผู้ที่อยู่ในครอบครัวของพระองค์ตระหนักว่าความรักนั้นสำคัญกว่าสิ่งใด พระเยซูตรัสว่า ความรักของเราต่อกันและกันคือพยานที่สำคัญที่สุดต่อโลกนี้ไม่ใช่หลักข้อเชื่อของเรา พระองค์ตรัสว่า "ความรักที่เข้มแข็งซึ่งท่านมีต่อกันและกันจะพิสูจน์ให้โลกรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา" (ยอห์น 13:35 LB)

ในสวรรค์ เราจะมีความสุขกับครอบครัวของพระเจ้าตลอดไป แต่อันดับแรก เรามีงานหนักบางอย่างต้องทำบนโลกนี้ เพื่อเตรียมตัวเราเองสำหรับการอยู่ในนิรันดรกาลด้วยความรัก พระเจ้าทรงฝึกเราโดยการให้เรามี "ความรับผิดชอบในครอบครัว" และที่สำคัญที่สุดคือ ให้เราฝึกรักซึ่งกันและกัน

พระเจ้าต้องการให้คุณมีสามัคคีธรรมใกล้ชิดกับพี่น้องผู้เชื่ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อคุณจะสามารถฝึกทักษะของการรัก ความรักไม่สามารถเรียนรู้โดยการปลีกตัวสันโดษ คุณต้องอยู่กับคนอื่น คนที่น่ารำคาญ ไม่สมบูรณ์ น่าโมโห และโดยการสามัคคีธรรม เราจะเรียนรู้ความจริงสำคัญสามประการ

การใช้ชีวิตอย่างดีที่สุดคือรัก

ความรักควรจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก เป้าหมายหลัก และความทะเยอทะยานสูงสุดของคุณ ความรักไม่ใช่แค่ส่วนดีในชีวิตคุณ แต่มันเป็นส่วนสำคัญที่สุด พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงให้ความรักเป็นเป้าหมายสูงสุดของท่าน" (1 โครินธ์ 14:1 LB)

การที่จะพูดว่า "สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการในชีวิตคือการเป็นคนที่รักคนอื่น" นั้นยังไม่เพียงพอ มันเหมือนกับว่า ความรักอยู่ในรายการสิ่งสำคัญที่สุดสิบอย่าง ความสัมพันธ์ต้องเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิตของคุณ เหนือกว่าทุกสิ่ง ทำไมน่ะหรือ

ชีวิตที่ปราศจากความรักนั้นไม่มีค่าอะไรเลย เปาโลกล่าวอย่างตรงประเด็นว่า "ไม่ว่าข้าพเจ้าพูดอะไร เชื่ออะไร และทำอะไร ข้าพเจ้าล้มเหลวหากปราศจากความรัก" (1 โครินธ์ 13:3ข Msg)

บ่อยครั้ง เราทำราวกับว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ต้องยัดเยียดเข้าไปในตารางเวลาของเรา เราพูดถึงการหาเวลาให้ลูก ๆ หรือแบ่งเวลาเพื่อผู้คนในชีวิตของเรา พูดแบบนั้นทำให้รู้สึกว่าความสัมพันธ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เช่นเดียวกับภารกิจอื่นอีกหลายอย่าง แต่พระเจ้าตรัสว่า ความสัมพันธ์คือทั้งหมดของชีวิต

พระบัญญัติสี่ประการจากทั้งหมดสิบประการนั้น เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า ขณะที่อีกหกประการ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น แต่ทั้งสิบประการล้วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ภายหลัง พระเยซูทรงสรุปสิ่งที่พระเจ้าให้ความสำคัญมากที่สุดเป็นสองข้อคือ รักพระเจ้าและรักมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า "จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า" … นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อใหญ่และข้อต้น ข้อที่สองก็เหมือนกันคือ "จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง" ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งสิ้นก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้" (มัทธิว 22:37-40) หลังจากเรียนรู้ที่จะรักพระเจ้า (นมัสการ) แล้ว การเรียนรู้ที่จะรักคนอื่นคือวัตถุประสงค์ประการที่สองของชีวิตของคุณ

ความสัมพันธ์คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ความสำเร็จหรือการครอบครองสิ่งต่าง ๆ แล้วเมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมเราจึงปล่อยให้ความสัมพันธ์ของเรามีความสำคัญเพียงน้อยนิด พอตารางเวลาของเราแน่นเกินไป เราก็เริ่มละทิ้งความสัมพันธ์ ตัดทอนการให้เวลา พลังงาน และความสนใจที่ความรักเรียกร้อง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพระเจ้ากลับถูกแทนที่ด้วยเรื่องเร่งด่วน

ศัตรูสำคัญของความสัมพันธ์คือการที่เราทำตัวให้ยุ่ง เราหมกมุ่นกับการทำมาหากิน การทำงาน การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และพยายามบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ราวกับว่างานเหล่านี้คือ จุดมุ่งหมายของชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ สิ่งสำคัญของชีวิตคือการเรียนรู้ที่จะรักพระเจ้าและรักมนุษย์ ชีวิตลบด้วยความรักมีค่าเท่ากับศูนย์

ความรักจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ เหตุผลอีกประการที่พระเจ้าตรัสบอกเราว่า จงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ ความรักจะดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ "สามสิ่งนี้จะคงอยู่ตลอดไปคือความเชื่อ ความหวัง และความรัก และในสามสิ่งนี้ความรักยิ่งใหญ่ที่สุด" (1 โครินธ์ 13:13 NLV)

ความรักจะทิ้งมรดกไว้ วิธีที่คุณปฏิบัติต่อคนอื่นคืออิทธิพลที่คงทนที่สุดที่คุณสามารถทิ้งไว้บนโลกนี้ ไม่ใช่ความมั่งคั่งหรือความสำเร็จ ตามที่แม่ชีเทรีซาได้กล่าวว่า "สิ่งสำคัญไม่ใช่สิ่งที่คุณทำ แต่เป็นปริมาณความรักที่คุณเติมลงไปในการกระทำนั้น" ความรักคือเคล็บลับของมรดกที่ถาวร

ผมได้อยู่ข้างเตียงของหลายคนในวาระสุดท้ายของพวกเขา ขณะที่พวกเขายืนอยู่ที่พรมแดนของนิรันดรกาล และผมไม่เคยได้ยินใครพูดว่า "เอาปริญญาบัตรของผมมา ผมอยากดูมันอีกสักครั้ง ขอผมดูรางวัล เหรียญ นาฬิกาทองที่ผมได้รับหน่อย" เมื่อชีวิตบนโลกนี้กำลังจะจบลง คนจะไม่เอาวัตถุสิ่งของมาห้อมล้อมตัวเอง สิ่งที่เราต้องการให้มาอยู่รอบตัวเราคือคน คนที่เรารักและมีความสัมพันธ์ด้วย

ในวาระสุดท้าย เราทุกคนจะตระหนักว่าความสัมพันธ์คือทั้งหมดของชีวิต สติปัญญาหมายถึงการเรียนรู้ความจริงไว้ล่วงหน้า ก่อนจะสายเกินการณ์ อย่าคอยจนคุณนอนรอความตายแล้วถึงจะค้นพบว่าไม่มีอะไรสำคัญกว่านี้อีกแล้ว

เราถูกประเมินโดยดูจากความรักของเรา เหตุผลประการที่สามที่ทำให้การเรียนรู้ที่จะรักเป็นเป้าหมายของชีวิตคุณคือ มันเป็นเรื่องที่เราจะถูกประเมินในนิรันดรกาล หนึ่งในวิธีที่พระเจ้าทรงวัดความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณก็คือ ดูที่คุณภาพความสัมพันธ์ของคุณ ในสวรรค์พระเจ้าจะไม่ตรัสว่า "จงบอกเราเรื่องอาชีพของเจ้า บัญชีธนาคารของเจ้า และงานอดิเรกของเจ้า" แต่พระองค์จะดูว่าคุณได้ปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร โดยเฉพาะคนที่ขัดสน (มัทธิว 25:34-46) พระเยซูตรัสว่า วิธีที่จะรักพระองค์คือรักครอบครัวของพระองค์และเอาใจใส่ความต้องการในชีวิตของพวกเขา "เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ซึ่งท่านได้กระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้ถึงแม้จะต่ำต้อยเพียงไรก็เหมือนได้กระทำแก่เราด้วย" (มัทธิว 25:40)

เมื่อคุณย้ายเข้าไปอยู่ในนิรันดรกาล คุณจะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ทั้งหมดที่คุณจะเอาไปได้ก็คือลักษณะนิสัยของคุณ นั่นคือเหตุผลที่พระคัมภีร์กล่าวว่า "สิ่งเดียวที่สำคัญคือ ความเชื่ออันแสดงออกด้วยความรัก" (กาลาเทีย 5:6 อมตธรรมร่วมสมัย)

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ผมจึงขอแนะนำว่า เมื่อคุณตื่นทุกเช้า ให้คุณคุกเข่าลงข้างเตียงหรือนั่งที่ขอบเตียง และอธิษฐานว่า "ข้าแต่พระเจ้า ไม่ว่าวันนี้ข้าพระองค์จะทำสิ่งใด ๆ เสร็จหรือไม่ ข้าพระองค์ต้องการแน่ใจว่า ข้าพระองค์ได้ให้เวลาแก่การรักพระองค์และรักคนอื่น เพราะว่านั้นคือความหมายทั้งหมดของชีวิต ข้าพระองค์ไม่ต้องสูญเสียเวลาวันนี้ไปเปล่า ๆ" ทำไมพระเจ้าต้องประทานอีกหนึ่งวันแก่คุณถ้าคุณกำลังจะทำให้มันสูญเปล่า

วิธีแสดงความรักที่ดีที่สุดคือเวลา

ความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ สามารถวัดได้จากปริมาณเวลาที่เราเต็มใจลงทุนกับสิ่งเหล่านั้น ยิ่งคุณให้เวลากับสิ่งใดมาก คุณก็ยิ่งบอกถึงความสำคัญและคุณค่าที่มันมีต่อคุณ ถ้าคุณต้องการรู้ว่าใครสักคนให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากที่สุด ก็แค่ดูว่าเขาใช้เวลาของเขาอย่างไร

เวลาคือของขวัญที่มีค่าที่สุด เพราะคุณมีปริมาณเวลาที่ตายตัว คุณสามารถหาเงินมากขึ้น แต่คุณไม่สามารถหาเวลามากขึ้น เมื่อคุณใช้เวลากับใคร คุณกำลังให้ส่วนหนึ่งของชีวิตคุณแก่เขา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณไม่มีวันเอากลับคืนได้ เวลาของคุณคือชีวิตของคุณนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เวลาเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณสามารถให้กับใครสักคน

การเพียงแต่พูดว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญนั้นยังไม่เพียงพอ เราต้องพิสูจน์มันด้วยการลงทุนเวลาในความสัมพันธ์เหล่านั้น คำพูดอย่างเดียวไม่มีค่า "ลูกเอ๋ย เราไม่ควรรักกันแต่ปาก แต่ให้รักกันจริง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากการกระทำ" (1 ยอห์น 3:18 ประชานิยม) ความสัมพันธ์ต้องมีเวลาและการกระทำ และวิธีที่ดีที่สุดในการสะกดคำว่ารักคือ "เ-ว-ล-า"

แก่นแท้ของความรักไม่ใช่สิ่งที่คุณคิด หรือทำ หรือจัดหาให้คนอื่น แต่มันอยู่ที่ว่าเราให้ตัวเราเองมากแค่ไหน ผู้ชายเข้าใจเรื่องนี้น้อยเป็นพิเศษ หลายคนพูดกับผมว่า "ผมไม่เข้าใจภรรยากับลูก ๆ ของผมเลย ผมให้ทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ พวกเขาอยากจะได้อะไรอีกล่ะ" พวกเขาต้องการคุณ ตาของคุณ หูของคุณ เวลาของคุณ ความสนใจของคุณ การที่คุณอยู่ด้วย ความจดจ่อของคุณ ซึ่งก็คือเวลาของคุณ ไม่มีอะไรทดแทนสิ่งนี้ได้

ของขวัญแห่งความรักซึ่งผู้คนปราถนามากที่สุดไม่ใช่เพชร หรือกุหลาบ หรือช็อคโกแลต แต่เป็นความสนใจที่จดจ่อ ความรักมุ่งความสนใจไปที่อีกฝ่ายมากจนคุณลืมตัวเองไปในเวลานั้น ความสนใจที่จดจ่อคือการบอกว่า "ผมเห็นคุณค่าของคุณ เพียงพอที่จะให้สมบัติที่มีค่าที่สุดของผม นั่นคือ เวลาของผม" เมื่อไรก็ตามที่คุณให้เวลาของคุณ คุณก็กำลังเสียสละ และการเสียสละคือเนื้อแท้ของความรัก พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ "จงเต็มล้นด้วยความรักต่อคนอื่น โดยทำตามตัวอย่างของพระคริสต์ผู้ทรงรักท่าน และประทานพระองค์เองแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเพื่อขจัดความบาปของเรา" (เอเฟซัส 5:2 LB)

คุณสามารถให้โดยที่ไม่มีความรัก แต่คุณไม่สามารถรักโดยที่ไม่ให้ "พระเจ้าทรงรักโลกจนได้ทรงประทาน…" (ยอห์น 3:16ก) ความรักหมายถึงการยอมสละ ยอมให้สิ่งที่ตนชอบ ความสบาย เป้าหมาย ความมั่งคง เงินทอง กำลังกาย หรือเวลาของตน เพื่อผลประโยชน์ของอีกคนหนึ่ง

เวลาที่ดีที่สุดที่จะรักคือเดี๋ยวนี้

บางครั้ง การผลัดวันประกันพรุ่งก็เป็นวิธีตอบสนองที่ถูกต้องต่องานสัพเพเหระ แต่เนื่องจากความรักคือสิ่งที่สำคัญที่สุด มันจึงสำคัญเป็นอันดับแรก พระคัมภีร์เน้นเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยกล่าวว่า "เมื่อใดที่เรามีโอกาสควรจะทำดีแก่ทุกคน" (กาลาเทีย 6:10 ประชานิยม) "จงใช้ทุก ๆ โอกาสอย่างดีที่สุดในการทำดี" (เอเฟซัส 5:16 อ่านเข้าใจง่าย) "เมื่อไรก็ตามที่ท่านสามารถทำได้ จงทำดีแก่ผู้ที่ต้องการ อย่าบอกเพื่อนบ้านของท่านให้คอยถึงพรุ่งนี้ ถ้าท่านสามารถช่วยพวกเขาได้เดี๋ยวนี้" (สุภาษิต 3:27 TEV)

ทำไมเวลานี้จึงเป็นเวลาดีที่สุดที่จะแสดงความรัก ก็เพราะคุณไม่รู้ว่าคุณจะมีโอกาสนี้ไปอีกนานแค่ไหน สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป คนตายไป ลูก ๆ โตขึ้น คุณไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าจะมีพรุ่งนี้ ถ้าคุณอยากแสดงความรัก คุณก็ควรจะทำเสียเดี๋ยวนี้

เมื่อรู้ว่าวันหนึ่งคุณจะต้องยืนต่อพระพักตร์พระเจ้า คุณจึงควรพิจารณาคำถามต่อไปนี้ คุณจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับเวลาที่คุณให้โครงการหรือสิ่งของสำคัญมากกว่าผู้คน คุณจำเป็นต้องเริ่มให้เวลากับใครมากขึ้น อะไรที่คุณจำเป็นต้องตัดออกจากตารางเวลาเพื่อคุณจะให้เวลาแก่ใครคนนั้นได้ คุณต้องเสียสละอะไรบ้าง

การใช้ชีวิตที่ดีที่สุดคือการรัก วิธีแสดงความรักที่ดีที่สุดคือเวลา เวลาที่ดีที่สุดที่จะรักคือเดี๋ยวนี้

วันที่ 16 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ชีวิตทั้งชีวิตเป็นเรื่องของความรัก

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "บทบัญญัติทั้งหมดสรุปรวมเป็นข้อเดียวว่า จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง" กาลาเทีย 5:14 (อมตธรรมร่วมสมัย)

คำถามสำหรับการพิจารณา: ถ้าจะพูดอย่างจริงใจแล้ว ความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของฉันหรือไม่ ฉันจะทำอย่างไร จึงจะมั่นใจว่ามันเป็นเช่นนั้น

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 15 สร้างขึ้นมาเพื่อครอบครัวของพระเจ้า

วัตถุประสงค์ที่ 2
คุณถูกสร้างขึ้นมาเพื่อครอบครัวของพระเจ้า

เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นแขนง
ยอห์น 15:5

พระคริสต์ทรงทำให้เราเป็นกายเดียวกัน… ต่อประสานกับกันและกัน
โรม 12:5 (GWT)

วันที่ 15
สร้างขึ้นมาเพื่อครอบครัวของพระเจ้า

พระเจ้าสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาเพื่อพระองค์ พระเจ้าต้องการที่จะนำลูก ๆ มากมายมามีส่วนร่วมในเกียรติยศของพระองค์
ฮีบรู 2:10ก (อ่านเข้าใจง่าย)

ดูชิว่าพระบิดารักเรามากเพียงใด พระองค์ทรงรักเรามากยิ่งนัก จนให้เราได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า แล้วเราก็เป็นดังนั้นจริง ๆ
1 ยอห์น 3:1 (ประชานิยม)

คุณถูกสร้างมาเพื่อครอบครัวของพระเจ้า

พระเจ้าต้องการครอบครัว และพระองค์ทรงสร้างคุณให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ นี่เป็นวัตถุประสงค์ประการที่สองของพระเจ้าสำหรับชีวิตคุณ ซึ่งพระองค์ทรงวางแผนไว้ตั้งแต่ก่อนที่คุณจะเกิดมา พระคัมภีร์ทั้งเล่มคือเรื่องของพระเจ้าทรงสร้างครอบครัวที่จะรักพระองค์ ให้เกียรติพระองค์ และปกครองร่วมกับพระองค์ตลอดไป พระคัมภีร์กล่าวว่า "แผนการที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดมาของพระองค์คือ การรับเราเข้าสู่ครอบครัวของพระองค์เอง โดยการนำเรามาหาพระองค์เองผ่านทางพระเยซูคริสต์ และสิ่งนี้ทำให้พระองค์ชอบพระทัยอย่างยิ่ง" (เอเฟซัส 1:5 NLT)

เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก ดังนั้นพระองค์จึงเห็นว่าความสัมพันธ์มีค่า พระลักษณะแท้จริงของพระองค์ก็เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ และพระองค์ทรงสำแดงพระองค์เองด้วยคำที่เกี่ยวกับครอบครัว คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ ตรีเอกานุภาพคือความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับพระองค์เอง มันเป็นแบบแผนที่สมบูรณ์แบบสำหรับความสัมพันธ์รักใคร่ปรองดอง และเราควรศึกษาว่าความสัมพันธ์นี้มีผลสืบเนื่องอย่างไร

พระเจ้าทรงดำรงอยู่ในความสัมพันธ์รักต่อพระองค์เองเสมอมา ดังนั้น พระองค์ไม่เคยว้าเหว่ พระองค์มิได้จำเป็นต้องมีครอบครัว ทว่าพระองค์ทรงปรารถนาครอบครัวพระองค์จึงดำริแผนการเพื่อสร้างเรา นำเราเข้ามาในครอบครัวของพระองค์ และแบ่งบันทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีแก่เรา สิ่งนี้ทำให้พระเจ้าพอพระทัยอย่างยิ่ง พระคัมภีร์กล่าวว่า "มันเป็นวันที่พระองค์มีความสุข เมื่อพระองค์ประทานชีวิตใหม่ให้แก่เราโดยทางความจริงแห่งพระวาทะของพระองค์ และเรากลายเป็นบุตรลำดับแรก ๆ ในครอบครัวใหม่ของพระองค์ (ยากอบ 1:18 LB)

เมื่อเรามอบความไว้วางใจในพระคริสต์ พระเจ้าก็กลายเป็นพระบิดาของเรา เรากลายเป็นบุตรของพระองค์ ผู้เชื่อคนอื่น ๆ กลายเป็นพี่น้องของเรา และคริสตจักรกลายเป็นครอบครัวฝ่ายวิญญาณของเรา ครอบครัวของพระเจ้าครอบคลุมถึงผู้เชื่อทุกคนในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า แต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า ทางเดียวที่จะเข้ามาอยู่ในครอบครัวของพระเจ้าคือโดยการบังเกิดใหม่สู่ครอบครัวนี้ คุณกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมนุษยชาติโดยการเกิดครั้งแรกของคุณ แต่คุณกลายเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้าโดยการเกิดครั้งที่สอง "พระเจ้าประทานสิทธิพิเศษแห่งการบังเกิดใหม่แก่เรา เพื่อบัดนี้เราจะเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า" (1 เปโตร 1:3ข LB; และดูโรม 8:15-16)

การเชื้อเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้านั้นเป็นเรื่องสากล (มาระโก 8:34; กิจการ 2:21; โรม 10:13; 2 เปโตร 3:9) แต่มีเงื่อนไขประการหนึ่งคือ ความเชื่อในพระเยซู พระคัมภีร์กล่าวว่า "พวกท่านทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้าโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์" (กาลาเทีย 3:26 2002)

ครอบครัวฝ่ายวิญญาณของคุณสำคัญยิ่งกว่าครอบครัวฝ่ายร่างกายเสียอีก เพราะว่ามันจะดำรงอยู่ตลอดไป ครอบครัวของเราบนโลกนี้เป็นของประทานแสนวิเศษจากพระเจ้าแต่ว่าครอบครัวบนโลกนี้ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วคราวและเปราะบาง มักจะแตกแยกเพราะการหย่าร้าง ระยะทาง ความแก่ชรา และหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความตาย ตรงกันข้าม ครอบครัวฝ่ายวิญญาณของเรา คือความสัมพันธ์ของเรากับผู้เชื่อคนอื่น จะดำเนินต่อไปชั่วนิรันดร์มันเป็นความผูกพันที่แข็งแกร่งยิ่งกว่า และเป็นพันธะที่คงทนถาวรกว่าความสัมพันธ์ทางสายเลือด ทุกครั้งที่เปาโลหยุดเพื่อพิจารณาพระประสงค์นิรันดร์ที่พระเจ้าทรงมีไว้สำหรับพวกเราร่วมกัน ท่านก็จะร้องออกมาเป็นคำสรรเสริญว่า "เมื่อข้าพเจ้าคิดถึงพระปัญญาและขอบเขตของแผนการของพระองค์ ข้าพเจ้าก็คุกเข่าลงและอธิษฐานต่อพระบิดาของทุกคนในครอบครัวอันไพศาลของพระเจ้า บางคนในครอบครัวนี้อยู่ในสวรรค์แล้วและบางคนอยู่บนโลกนี้" (เอเฟซัส 3:14-15 LB)

ผลประโชน์ของการอยู่ในครอบครัวของพระเจ้า

ทันทีที่คุณบังเกิดฝ่ายวิญญาณเข้าสู่ครอบครัวของพระเจ้า คุณก็ได้รับของขวัญวันเกิดที่น่าตื่นเต้น อันได้แก่ นามสกุล ความคล้ายคลึงภายในครอบครัว สิทธิพิเศษของครอบครัว ความสนิทสนมในครอบครัว และมรดกของครอบครัว (1 ยอห์น 3:1; โรม 8:29; กาลาเทีย 4:6-7; โรม 5:2; 1 โครินธ์ 3:23; เอเฟซัส 3:12; 1 เปโตร 1:3-5; โรม 8:17) พระคัมภีร์กล่าวว่า "เนื่องจากท่านเป็นบุตรของพระองค์ ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีก็เป็นของท่าน" (กาลาเทีย 4:7ข NLT)

พระคัมภีร์ใหม่เน้นย้ำเรื่อง "มรดก" อันมั่นคั่งของเรา พระคัมภีร์บอกเราว่า "พระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานสิ่งสารพัดที่พวกท่านขาดอยู่นั้นจากทรัพย์อันรุ่งเรืองของพระองค์ในพระเยซูคริสต์" (ฟีลิปปี 4:19) ในฐานะบุตรของพระเจ้า เราได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัติของครอบครัวบนโลกนี้ เราได้รับ "ความมั่งคั่ง… พระคุณ… พระกรุณา… ความอดทน… พระสิริ… พระปัญญา… ฤทธิ์เดช… และพระเมตตา" (เอเฟซัส 1:7; โรม 2:4; 9:23; 11:33; เอเฟซัส 3:16; 2:4) แต่ในนิรันดรกาล เราจะได้รับมรดกมากยิ่งกว่านี้

เปาโลกล่าวไว้ว่า "ข้าพเจ้าอยากให้ท่านตระหนักว่าพระเจ้าประทานมรดกอันมั่นคั่งและมีสง่าราศีเพียงไรแก่ประชากรของพระองค์" (เอเฟซัส 1:18ข NLT) มรดกนี้มีอะไรบ้าง ประการแรก เราจะได้อยู่กับพระเจ้าตลอดไป (1 เธสะโลนิกา 5:10; 4:17) ประการที่สอง เราจะเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนพระคริสต์ (1 ยอห์น 3:2; 2 โครินธ์ 3:18) ประการที่สาม เราจะเป็นอิสระจากความเจ็บปวด ความตาย และความทุกข์ยากทั้งสิ้น (วิวรณ์ 21:4) ประการที่สี่ เราจะได้บำเหน็จ และรับมอบหมายตำแหน่งในการรับใช้ใหม่ (มาระโก 9:41; 10:30; 1 โครินธ์ 3:8; ฮีบรู 10:35; มัทธิว 25:21, 23) ประการที่ห้า เราจะได้เข้าร่วมในพระสิริของพระคริสต์ (โรม 8:17; โคโลสี 3:4; 2 เธสะโลนิกา 2:14; 2 ทิโมธี 2:12; 1 เปโตร 5:1) ช่างเป็นมรดกยิ่งใหญ่อะไรเช่นนี้ คุณมั่งคั่งมากกว่าที่คุณรู้ตัวหลายเท่า

พระคัมภีร์กล่าวว่า "พระเจ้าได้ทรงเก็บมรดกอันล้ำค่าไว้ในสวรรค์สำหรับลูกของพระองค์ มันถูกเก็บไว้สำหรับท่านเป็นมรดกที่ไม่มีวันผุพัง เน่าเปื่อย หรือสลายไป" (1 เปโตร 1:4 NLT) นี่หมายความว่า มรดกนิรันดร์ของคุณนั้นประเมิณค่าไม่ได้ บริสุทธิ์ ถาวร และได้รับการปกป้องไว้ ไม่มีใครเอาไปจากคุณได้ มันจะไม่ถูกทำลายโดยสงครามเศรษฐกิจตกต่ำ หรือภัยธรรมชาติ มรดกนิรันดร์นี้คือสิ่งที่คุณควรจะรอคอยและทุ่มเทให้ ไม่ใช่การปลดเกษียน เปาโลกล่าวว่า "ไม่ว่าท่านจะทำสิ่งใด ก็จงทำด้วยความเต็มใจเหมือนกระทำถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เหมือนกระทำแก่มนุษย์ ท่านรู้ว่าท่านจะได้รับมรดกจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นบำเน็จ" (โคโลสี 3:23-24ก) การปลดเกษียนเป็นเป้าหมายที่สั้น คุณควรจะอยู่โดยคำนึงถึงนิรันดรกาล

บัพติศมา: การแสดงตัวเป็นครอบครัวของพระเจ้า

ครอบครัวที่ดีย่อมมีความภูมิใจในครอบครัว สมาชิกจะไม่อายที่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนั้น แต่น่าเศร้าที่ผมได้พบผู้เชื่อหลายคนซึ่งไม่เคยแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเขาอยู่ในครอบครัวฝ่ายวิญญาณนี้ ตามที่พระเยซูทรงบัญชา นั่นคือโดยการรับบัพติศมา

บัพติศมาไม่ใช่พิธีกรรมที่เลือกได้ หรือชะลอไว้ หรือเลื่อนออกไปได้ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าคุณได้เข้าสู่ครอบครัวของพระเจ้า มันเป็นการประกาศต่อสาธารณะ ประกาศให้โลกรู้ว่า "ฉันไม่อายที่เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า" คุณได้รับบัพติศมาแล้วหรือยัง พระเยซูบัญชาให้ทุกคนในครอบครัวของพระองค์ทำสิ่งที่สวยงามนี้ พระองค์บัญชาเราว่า "จงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์" (มัทธิว 28:19)

เป็นเวลาหลายปี ที่ผมสงสัยว่าทำไมพระมหาบัญชาของพระเยซูจึงให้ความสำคัญแก่พิธีบัพติศมาเท่าเทียมกับงานสำคัญคือการประกาศและสั่งสอน ทำไมบัพติศมาจึงสำคัญนักแล้วผมก็ตระหนักว่า เพราะมันแสดงถึงพระประสงค์ประการที่สองของพระเจ้าสำหรับชีวิตคุณคือ การเข้าร่วมในสามัคคีธรรมแห่งครอบครัวนิรันดร์ของพระเจ้า

บัพติศมามีความหมายที่ลึกซึ้ง บัพติศมาประกาศความเชื่อของคุณ ประกาศว่าคุณเข้าร่วมในการถูกฝังและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ เป็นสัญลักษณ์ของการตายจากชีวิตเก่าของคุณ และประกาศชีวิตใหม่ของคุณในพระคริสต์ และยังเป็นการฉลองที่คุณได้เข้ามาอยู่ในครอบครัวของพระเจ้า

บัพติศมาของคุณเป็นภาพฝ่ายร่างกายของความจริงฝ่ายวิญญาณ มันเล็งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าทรงนำคุณมาในครอบครัวของพระองค์ "เพราะว่าถึงเราจะเป็นพวกยิว หรือพวกกรีก เป็นทาส หรือมิใช่ทาสก็ตาม เราทั้งหลายได้รับบัพติศมาโดยพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายเดียวกัน" (1 โครินธ์ 12:13)

บัพติศมาไม่ได้ทำให้คุณเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า ความเชื่อในพระคริสต์เท่านั้นที่นำคุณเข้าสู่ครอบครัวนี้ แต่บัพติศมาแสดงว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของพระเจ้า เช่นเดียวกับแหวนแต่งงาน ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจที่มองเห็นได้ เพื่อให้ระลึกถึงคำสัญญาที่จาลึกในใจของคุณ มันเป็นการกระทำที่บอกถึงการเริ่มต้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณคอยจนกว่าคุณเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ เงื่อนไขเดียวในพระคัมภีร์คือ คุณเชื่อ (กิจการ 2:41; 8:12-13, 35-38)

ในพระคัมภีร์ใหม่ ผู้เชื่อได้รับบัพติศมาทันทีที่เขาเชื่อในวันเพ็นเทคอสต์ 3,000 คน ได้รับบัพติศมาในวันเดียวกันกับที่พวกเขาได้ยอมรับพระคริสต์ อีกครั้งหนึ่ง ผู้นำเอธิโอเปียได้รับบัพติศมา ณ จุดเดียวกับที่เขากลับใจ เปาโลกับสิลาสก็ให้บัพติศมาแก่นายคุกเมืองฟีลิปปีและครอบครัวของเขาในเวลาเที่ยงคืน ในพระคัมภีร์ใหม่ การให้บัพติศมาไม่มีการคอยท่า ถ้าคุณยังไม่ได้รับบัพติศมาเพื่อแสดงออกว่าคุณเชื่อในพระคริสต์ ก็จงทำทันทีที่ทำได้ ตามที่พระเยซูทรงบัญชา

สิทธิพิเศษยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต

พระคัมภีร์กล่าวว่า "ทั้งพระเยซูผู้ที่ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์และคนที่พระองค์ทำให้บริสุทธิ์ต่างมาจากครอบครัวเดียวกัน พระเยซูจึงไม่อายที่จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพี่น้องพระองค์" (ฮีบรู 2:11 อ่านเข้าใจง่าย) จงซึมซับความจริงที่น่าอัศจรรย์นี้ คุณเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของพระเจ้า และเพราะว่าพระเยซูทรงทำให้คุณบริสุทธิ์ พระเจ้าจึงทรงภูมิใจในตัวคุณ คำตรัสของพระเยซูนั้นชัดเจน คือ "พระองค์ทรงชี้ไปทางพวกสาวกของพระองค์และตรัสว่า นี่เป็นมารดาและพี่น้องของเรา ด้วยว่าผู้ใดจะกระทำตามพระทัยพระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิงและมารดาของเรา" (มัทธิว 12:49-50) การได้เข้าร่วมในครอบครัวของพระเจ้าคือ เกียรติสูงสุดและสิทธิพิเศษยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณจะมีโอกาสได้รับ ไม่มีอะไรจะมาเทียบได้ เมื่อไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญ ไม่เป็นที่รัก หรือไม่ปลอดภัย ให้คุณระลึกว่าคุณเป็นของใคร

วันที่ 15 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ฉันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อครอบครัวของพระเจ้า

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "แผนการที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดมาของพระองค์คือ การรับเราเข้าสู่ครอบครัวของพระองค์เอง โดยการนำเรามาหาพระองค์เอง ผ่านทางพระเยซูคริสต์ และสิ่งนี้ทำให้พระองค์ชอบพระทัยอย่างยิ่ง" เอเฟซัส 1:5 (NLT)

คำถามสำหรับการพิจารณา: ฉันจะเริ่มปฏิบัติต่อผู้เชื่อคนอื่นเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวของฉันเองได้อย่างไร

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 14 เมื่อพระเจ้าดูเหมือนห่างไกล

พระเจ้าทรงซ่อนพระองค์ให้พ้นประชากรของพระองค์ แต่ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ และหวังพึ่งพระองค์
อิสยาห์ 8:17 (ประชานิยม)

พระเจ้ามีจริง ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม

การนมัสการพระเจ้าในเวลาที่สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตดำเนินไปอย่างดีเยี่ยมนั้นเป็นเรื่องง่ายคือเมื่อพระองค์ประทานอาหาร เพื่อน ครอบครัว สุขภาพ และสถานการณ์ที่เป็นสุขแต่สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้ดีเสมอไป แล้วคุณจะนมัสการพระเจ้าในเวลานั้นได้อย่างไร คุณจะทำอะไรเมื่อพระองค์ดูเหมือนอยู่ห่างไกล

มิตรภาพมักจะถูกทดสอบด้วยการพรากจากและความเงียบ คุณถูกแยกด้วยระยะทางหรือคุณไม่สามารถคุยกัน ในมิตรภาพคุณกับพระเจ้า คุณจะไม่รู้สึกว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ตลอดเวลา ฟีลิป แยงซีเขียนไว้อย่างฉลาดว่า "ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบต้องมีช่วงเวลาของความใกล้ชิดและช่วงเวลาของความห่างไกล และในความสัมพันธ์กับพระเจ้า ไม่ว่าจะสนิทสนมเพียงไร ลูกตุ้มก็จะเหวี่ยงจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง" นั่นคือเวลาที่การนมัสการทำได้ยาก

เพื่อให้มิตรภาพของคุณเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พระเจ้าจะทรงทดสอบมันด้วยช่วงเวลาที่ดูเหมือนพรากจากกัน เวลาที่รู้สึกราวกับว่าพระเจ้าได้ทอดทิ้งหรือลืมคุณไปแล้ว คุณรู้สึกเหมือนพระเจ้าอยู่ไกลออกไปเป็นล้านกิโลเมตร นักบุญยอห์นแห่งกางเขนเรียกช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้ง ความสงสัย และความเหินห่างฝ่ายวิญญาณเช่นนี้ว่าเป็น "คืนอันมืดมิดของจิตใจ" เฮ็นรี่ นูเวนเรียกมันว่า "พันธกิจแห่งการไม่สถิตอยู่" เอ. ดับเบิลยู โทเซอร์ เรียกมันว่า "พันธกิจแห่งค่ำคืน" คนอื่น ๆ เรียกว่า "ฤดูหนาวแห่งหัวใจ"

นอกเหนือจากพระเยซูแล้ว ดาวิดคงจะมีมิตรภาพใกล้ชิดกับพระเจ้ามากกว่าใคร ๆ พระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะเรียกท่านว่า "คนที่เราชอบใจ" (1 ซามูเอล 13:14; กิจการ 13:22) แต่ดาวิดมักจะบ่นเรื่องที่พระเจ้าทรงดูเหมือนไม่สถิตอยู่ด้วย "ข้าแต่พระเจ้า ไฉนพระองค์ประทับยืนอยู่ห่างไกลและทรงซ่อนพระองค์เสียในเวลาที่ข้าพระองค์ต้องการพระองค์มากที่สุด" (สดุดี 10:1 LB) "พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย เหตุใดพระองค์ทรงเมินเฉยที่จะช่วยข้าพระองค์ และต่อถ้อยคำคร่ำครวญของข้าพระองค์" (สดุดี 22:1) "ไฉนพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย" (สดุดี 42:2 และดู 44:23; 74:11; 88:14; 89:49)

แน่นอนพระเจ้ามิได้ทรงละทิ้งดาวิดจริง ๆ และพระองค์ก็มิได้ทรงละทิ้งคุณ พระองค์ทรงสัญญาเสมอ ๆ ว่า "เราจะไม่ละท่านหรือทอดทิ้งท่านเลย" (เฉลยธรรมบัญญัติ 31:8; สดุดี 37:28; ยอห์น 14:16-18; ฮีบรู 13:5) แต่พระเจ้ามิได้ทรงสัญญาว่า "ท่านจะรู้สึกได้ว่าเราสถิตอยู่ด้วยตลอดเวลา" ที่จริง พระเจ้าทรงยอมรับว่า บางครั้งพระองค์ทรงซ่อนพระพักตร์ของพระองค์จากเรา (อิสยาห์ 45:15) มีหลายครั้งที่พระองค์ดูเหมือน "หายไปจากการปฏิบัติการ" ในชีวิตคุณ

ฟลอยด์ แมคคลังอธิบายเรื่องนี้ว่า "เช้าวันหนึ่ง คุณตื่นมาแล้วความรู้สึกฝ่ายวิญญาณทั้งหมดของคุณก็หายไป คุณอธิษฐานแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณสำทับมารแต่มันไม่ทำอะไรเปลี่ยนไป คุณทำกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ… คุณให้เพื่อนอธิษฐานเพื่อคุณ… คุณสารภาพบาปทุกอย่างที่คุณนึกได้ แล้วก็ไปขอการยกโทษจากทุกคนที่คุณรู้จัก คุณอดอาหาร… แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณเริ่มสงสัยว่า ความหดหู่ฝ่ายวิญญาณนี้จะคงอยู่นานสักแค่ไหน เป็นวัน เป็นเดือน แล้วมันจะหายไปไหม… คุณรู้สึกเหมือนคำอธิษฐานของคุณกระทบเพดานแล้วก็ตกลงมา คุณร้องด้วยความรู้สึกสุดแสนสิ้นหวังว่า "นี่ผมเป็นอะไรไป"

ความจริงคือไม่มีอะไรผิดปกติในตัวคุณ นี่เป็นองค์ประกอบปกติของการทดสอบและการทำให้มิตรภาพของคุณกับพระเจ้าเติบโต คริสเตียนทุกคนต้องผ่านสถานการณ์แบบนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และส่วนมากก็มักจะหลายครั้ง มันเจ็บปวดและน่าหวาดวิตก ทว่ามันสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความเชื่อของคุณ การรู้ความจริงข้อนี้ทำให้โยบมีความหวัง เมื่อท่านไม่สามารถรู้สึกถึงการสถิตอยู่ของพระเจ้าในชีวิตท่าน ท่านกล่าวว่า "ข้าเดินไปทางตะวันออก แต่พระองค์มิได้สถิตที่นั่น ข้าเดินไปทางตะวันตก แต่ข้าก็ไม่สามารถพบพระองค์ ข้าไม่เห็นพระองค์ทางเหนือ เพราะพระองค์ทรงซ่อนอยู่ ข้าหันไปทางใต้ แต่ข้าหาพระองค์ไม่พบ ทว่าพระองค์ทรงทราบทางที่ข้าไป เมื่อพระองค์ทรงทดสอบข้าเหมือนทองคำในไฟแล้ว พระองค์จะทรงประกาศว่าข้าไม่ผิด" (โยบ 23:8-10 NLT)

เมื่อพระเจ้าดูเหมือนอยู่ห่างไกล คุณอาจรู้สึกว่าพระองค์ทรงพิโรธต่อคุณ หรือทรงตีสอนคุณเพราะความบาปบางอย่าง ถูกแล้วครับ ความบาปทำให้เราขาดจากสามัคคีธรรมที่สนิทสนมกับพระเจ้าจริง เราทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัย และดับการสามัคคีธรรมของเรากับพระองค์โดยการไม่เชื่อฟัง การขัดแย้งกับคนอื่น การยุ่งจนไม่มีเวลา มิตรภาพกับโลก และความบาปอื่น ๆ (สดุดี 51; เอเฟซัส 4:29-30; 1เธสะโลนิกา 5:19; เยเรมีย์ 2:32; 1 โครินธ์ 8:12; ยากอบ 4:4)

แต่บ่อยครั้ง ความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งหรือห่างเหินจากพระเจ้านี้ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความบาป มันเป็นการทดสอบความเชื่อ ซึ่งเราทุกคนต้องพบ นั่นคือ คุณจะรัก วางใจ เชื่อฟัง และนมัสการพระเจ้าต่อไปหรือไม่ แม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกถึงการสถิตอยู่ของพระองค์หรือมองไม่เห็นหลักฐานการทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตคุณ

ความผิดพลาดที่คริสเตียนกระทำมากที่สุดในการนมัสการทุกวันนี้คือ การแสวงหาประสบการณ์แทนที่จะแสวงหาพระเจ้า พวกเขาแสวงหาความรู้สึกบางอย่าง และถ้ามันเกิดขึ้น พวกเขาก็จะสรุปว่า พวกเขาได้นมัสการแล้ว ผิดแล้วครับ ที่จริง พระเจ้ามักจะเอาความรู้สึกของเราไปเพื่อเราจะไม่พึ่งพามัน การแสวงหาความรู้สึกแม้กระทั่งความรู้สึกใกล้ชิดกับพระคริสต์ไม่ใช่การนมัสการ

เมื่อคุณเป็นคริสเตียนทารก พระเจ้าประทานความรู้สึกมากมายแก่คุณเพื่อยืนยัน และมักจะตอบคำอธิษฐานที่แสนจะเป็นเด็กและเห็นแก่ตัว เพื่อคุณจะรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ แต่เมื่อคุณเติบโตในความเชื่อ พระองค์จะทรงตัดคุณจากการพึ่งพาสิ่งเหล่านั้น

การที่พระเจ้าสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่งกับการสำแดงการสถิตอยู่ของพระองค์นั้นไม่เหมือนกัน สิ่งหนึ่งเป็นข้อเท็จจจริง อีกสิ่งหนึ่งมักจะเป็นความรู้สึก พระเจ้าทรงสถิตอยู่เสมอ แม้แต่เวลาที่คุณไม่รู้สึกถึงพระองค์ และการสถิตอยู่ของพระองค์ก็ลึกซึ้งเกินกว่าจะวัดด้วยอารมณ์เพียงอย่างเดียว

ใช่ครับ พระองค์ต้องการให้คุณสัมผัสถึงการสถิตอยู่ของพระองค์ แต่สิ่งที่พระองค์ทรงใส่พระทัยมากกว่าที่คุณรู้สึกถึงพระองค์คือ การที่คุณวางใจในพระองค์ ความเชื่อต่างหากที่ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยไม่ใช่ความรู้สึก

สถานการณ์ที่จะขยายความเชื่อของคุณมากที่สุด เวลาที่ชีวิตล่มสลาย และมองหาพระเจ้าไม่พบ เรื่องนี้เกิดขึ้นกับโยบ ในวันเดียวท่านสูญเสียทุกสิ่ง ครอบครัวของท่าน ธุรกิจของท่าน สุขภาพของท่าน และทุกสิ่งที่ท่านเป็นเจ้าของ ที่น่าท้อใจที่สุดคือ พระเจ้ามิได้ตรัสอะไรเลยตลอดสามสิบเจ็ดบท

คุณจะสรรเสริญพระเจ้าอย่างไรเมื่อคุณไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตคุณ และพระเจ้าทรงเงียบ คุณจะรักษาความสัมพันธ์ท่ามกลางวิกฤตโดยไม่มีการสื่อสารได้อย่างไร ตาคุณจะจ้องมองที่พระเยซูได้อย่างไรในเมื่อมันเต็มไปด้วยน้ำตา คุณทำสิ่งที่โยบทำคือ "แล้วโยบก็กราบลงถึงดินนมัสการ และกล่าวว่า ข้าพเจ้ามาจากครรภ์มารดาของข้าพเจ้าตัวเปล่า และข้าพเจ้าจะกลับไปตัวเปล่า พระเจ้าประทาน และพระเจ้าทรงเอาไปเสีย สาธุการแด่พระนามพระเจ้า" (โยบ 1:20-21)

บอกพระเจ้าอย่างที่คุณรู้สึก เทหัวใจของคุณแด่พระเจ้า เททุกอารมณ์ที่คุณรู้สึกออกมา โยบทำสิ่งนี้เมื่อท่านกล่าวว่า "ข้าพระองค์ไม่อาจเงียบได้ ข้าพระองค์โกรธและขมขื่นใจข้าพระองค์จำต้องพูด" (โยบ 7:11 TEV) ท่านร้องออกมาเมื่อพระเจ้าดูเหมือนอยู่ห่างไกล "โอ ข้าอยากจะอยู่อย่างเก่าก่อน… อย่างข้าเมื่อครั้งยังหนุ่มแน่นอยู่ เมื่อมิตรภาพอันสนิทสนมของพระเจ้าอวยพรเรือนของข้า" (โยบ 29:2, 4 NIV) พระเจ้าสามารถรับมือความสงสัย ความโกรธ ความกลัว ความเสียใจ ความสับสน และคำถามของคุณได้

คุณรู้หรือไม่ว่าการยอมรับต่อพระเจ้าว่าคุณรู้สึกสิ้นหวังสามารถเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อได้ ขณะที่ดาวิดยังวางใจพระเจ้า แต่ก็รู้สึกสิ้นหวังในเวลาเดียวกัน ท่านได้เขียนว่า "ข้าพเจ้าถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง" (สดุดี 116:10 NCV) เรื่องนี้ฟังดูเหมือนขัดแย้งกัน ผมวางใจพระเจ้า แต่ผมถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้ว การพูดตรง ๆ ของดาวิดเปิดเผยความเชื่ออันลึกซึ้งของท่าน ประการแรก ท่านเชื่อในพระเจ้า ประการที่สอง ท่านเชื่อว่าพระเจ้าจะฟังคำอธิษฐานของท่าน ประการที่สาม ท่านเชื่อว่าพระเจ้าจะยอมให้ท่านพูดสิ่งที่ท่านรู้สึก และยังคงรักท่าน

จดจ่อกับความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ใด รวมทั้งพระลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระองค์ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรและคุณจะรู้สึกอย่าางไร จงยึดมั่นในพระลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้า นั่นคือพระองค์ทรงประเสริฐ พระองค์รักฉัน พระองค์ทรงมีแผนการที่ดีสำหรับชีวิตของฉัน วี. เรย์มอนด์ เอ็ดแมนกล่าวไว้ว่า "อย่าได้สงสัยอยู่ในความมืดมนเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงบอกคุณในความสว่าง"

เมื่อชีวิตของโยบพังทลายลง และพระเจ้าทรงเงียบ โยบยังพบสิ่งที่ท่านสามารถสรรเสริญพระเจ้าได้คือ

๐ พระองค์ทรงประเสริฐและทรงรัก (โยบ 10:12)
๐ พระองค์ทรงมหิทธิฤทธิ์ (โยบ 42:2; 37:5, 23)
๐ พระองค์ทรงเห็นรายละเอียดทุกอย่างในชีวิตท่าน (โยบ 23:10; 31:4)
๐ พระองค์ทรงควบคุมอยู่ (โยบ 34:13)
๐ พระองค์ทรงมีแผนการสำหรับชีวิตของท่าน (โยบ 19:25)
๐ พระองค์จะช่วยท่านให้รอด (โยบ 23:12)

วางใจว่าพระเจ้าจะรักษาพระสัญญาของพระองค์ ระหว่างช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณ คุณต้องพึ่งพาพระสัญญาของพระองค์ด้วยความอดทน ไม่ใช่พึ่งอารมณ์ความรู้สึกของคุณ และตระหนักว่า พระองค์จะทรงนำคุณสู่ความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มิตรภาพที่ตั้งอยู่บนความรู้สึกนั้นตื้นจริง ๆ

ดังนั้น อย่าทุกข์ร้อนเพราะปัญหา สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนพระลักษณะของพระเจ้าได้ พระคุณของพระเจ้ายังกระทำกิจเต็มขนาด พระองค์ยังทรงอยู่ฝ่ายคุณ แม้ในเวลาที่คุณไม่รู้สึกเช่นนั้น ในสถานการณ์ที่ไม่น่าวางใจ โยบยังยึดมั่นในพระดำรัสของพระเจ้า ท่านกล่าวว่า "ข้ามิได้พรากไปจากพระบัญญัติแห่งริมพระโอษฐ์ของพระองค์ ข้าตีราคาพระวจนะแห่งพระโอษฐ์ของพระองค์สูงกว่าอาหารประจำวันของข้า" (โยบ 23:12 NIV)

การวางใจในพระดำรัสของพระเจ้าเช่นนี้ทำให้โยบยังคงสัตย์ซื่อแม้จะไม่มีอะไรที่เข้าใจได้ ความเชื่อของท่านเข้มแข็งท่ามกลางความเจ็บปวด "แม้พระองค์ทรงประหารข้า ข้าจะยังรอคอยพระองค์" (โยบ 13:15)

เมื่อคุณรู้สึกว่าถูกพระเจ้าทอดทิ้ง แต่ยังคงวางใจพระองค์แม้จะค้านกับความรู้สึกของคุณเอง คุณก็นมัสการพระองค์ระดับที่ลึกที่สุด

ระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าได้กระทำในชีวิตคุณ ถ้าพระเจ้ามิได้กระทำสิ่งอื่นเพื่อคุณ คุณก็ยังสมควรสรรเสริญพระองค์ต่อไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ เพราะสิ่งที่พระเยซูได้ทรงทำเพื่อคุณบนไม้กางเขน พระบุตรของพระเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อคุณ นี่คือเหตุผลสำคัญที่สุดของการนมัสการ

น่าเสียดาย เราลืมรายละเอียดอันทารุณของการถวายบูชาอย่างทนทุกข์ทรมานซึ่งพระเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา ความคุ้นเคยก่อให้เกิดความเฉยเมย แม้กระทั่งก่อนการตรึงกางเขน พระบุตรของพระเจ้าก็ยังถูกจับเปลือยพระกาย ถูกโบยตีจนกระทั่งผู้คนแทบจำไม่ได้ ถูกเฆี่ยน เยาะเย้ย และดูหมิ่น ต้องสวมมงกุฏหนาม และถูกถ่มน้ำลายรดด้วยความรังเกียจ พระองค์ทรงถูกปฏิบัติแย่ยิ่งกว่าเป็นสัตว์ ทรงถูกทำร้ายและเยาะเย้ย

แล้วเมื่อพระองค์แทบหมดสติเพราะเสียเลือด พระองค์ก็ทรงถูกบังคับให้แบกกางเขนใหญ่ขึ้นเนินเขา ถูกตรึงบนนั้น และถูกปล่อยให้ตายอย่างช้า ๆ และทรมานอย่างร้ายกาจขณะที่เลือดของพระองค์ไหลออก พวกระรานก็ยืนใกล้ ๆ และตะโกนคำหยาบหยามล้อเลียนความเจ็บปวดของพระองค์ และท้าทายคำตรัสที่พระองค์อ้างว่าทรงเป็นพระเจ้า

จากนั้น เมื่อพระเยซูทรงแบกรับความบาปและความผิดทั้งสิ้นของมนุษย์ไว้ที่พระองค์เอง พระเจ้าก็ทรงหันพระพักตร์จากภาพที่น่าเกลียดนั้นและพระเยซูทรงร้องด้วยความรู้สึกสุดแสนสิ้นหวังว่า "พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย" พระเยซูน่าจะช่วยพระองค์เอง แต่ถ้าทำเช่นนั้น พระองค์ก็ไม่สามารถช่วยคุณได้

คำพูดไม่สามารถบรรยายความมึดมนของช่วงเวลานั้น ทำไมพระเจ้าทรงอนุญาตและทนดูการทารุณอันน่ากลัวและชั่วร้ายนั้น ทำไม ก็เพื่อคุณจะสามารถรอดพ้นจากการต้องอยู่ในนรกตลอดนิรันดรกาล และเพื่อคุณจะสามารถร่วมในพระสิริของพระองค์ตลอดไป พระคัมภีร์กล่าวว่า "พระเยซูคริสต์ทรงปราศจากบาปแต่พระเจ้าทรงให้พระองค์มีส่วนร่วมในบาปของเรา เพื่อให้ร่วมสัมพันธ์กับพระองค์ ทำให้เรามีส่วนในความชอบธรรมของพระเจ้า" (2 โครินธ์ 5:21 ประชานิยม)

พระเยซูทรงสละทุกสิ่งเพื่อคุณจะสามารถมีทุกสิ่ง พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อคุณจะสามารถมีชีวิตอยู่ตลอดไป เพียงเท่านี้ก็สมควรที่เราจะขอบพระคุณและสรรเสริญพระองค์ตลอดไป คุณไม่ควรสงสัยอีกว่าคุณจะมีเรื่องอะไรที่จะขอบพระคุณพระเจ้า

วันที่ 14 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: พระเจ้ามีจริง ไม่ว่าฉันจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "เราจะไม่ละท่านหรือทอดทิ้งท่านเลย" ฮีบรู 13:5

คำถามสำหรับการพิจารณา: ฉันจะจดจ่อที่การสถิตอยู่ของพระเจ้าได้อย่างไรโดยเฉพาะในเวลาที่ฉันรู้สึกว่าพระองค์ทรงอยู่ห่างไกล

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 13 การนมัสการที่พระเจ้าพอพระทัย

จงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตใจของท่าน ด้วยสุดความคิด และด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน
มาระโก 12:30

พระเจ้าต้องการทั้งชีวิตของคุณ

พระเจ้าไม่ได้ต้องการบางส่วนของชีวิตคุณ พระองค์ขอให้คุณถวายสุดจิตสุดใจสุดความคิด และสุดกำลังของคุณ พระเจ้าไม่สนพระทัยการถวายตัวอย่างไม่สิ้นสุดใจ การเชื่อฟังเพียงบางส่วน หรือเศษเวลาและเศษเงินที่เหลือของคุณ พระองค์ปราถนาให้คุณอุทิศทั้งชีวิต ไม่ใช่อุทิศบ้างสักเล็กน้อย

เมื่อหญิงชาวสะมาเรียพยายามโต้แย้งกับพระเยซูเรื่องเวลา สถานที่ และรูปแบบการนมัสการที่ดีที่สุด พระเยซูตรัสว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรูปแบบภายนอก จะนมัสการที่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่าเหตุผลที่คุณนมัสการ และคุณถวายตัวเองแด่พระเจ้ามากแค่ไหนในการนมัสการ การนมัสการมีทั้งวิธีที่ถูกและวิธีที่ผิด พระคัมภีร์กล่าวว่า "ให้เราขอบพระคุณและนมัสการพระเจ้าอย่างที่ทรงพอพระทัย" (ฮีบรู 12:28 อมตธรรมร่วมสมัย) การนมัสการอย่างที่พระเจ้าพอพระทัยนั้นมีลักษณะสี่ประการ

พระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อเรานมัสการอย่างถูกต้อง ผู้คนมักจะพูดว่า "ผมชอบคิดว่า พระเจ้าเป็น… " แล้วก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระเจ้าในลักษณะที่เขาอยากกราบไหว้นมัสการ แต่เราไม่สามารถสร้างภาพของพระเจ้าตามใจชอบ หรือในแบบที่คิดว่าคนอื่นจะรับได้ แล้วก็นมัสการพระเจ้าในภาพนั้น เพราะนั่นคือภาพไหว้รูปเคารพ

การนมัสการต้องตั้งอยู่บนความจริงในพระคัมภีร์ ไม่ใช่บนความคิดเห็นที่เรามีต่อพระเจ้า พระเยซูตรัสแก่หญิงชาวสะมาเรียว่า "ผู้นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะพวกเขาเป็นผู้นมัสการแบบที่พระบิดาทรงแสวงหา" (ยอห์น 4:23 อมตธรรมร่วมสมัย)

"นมัสการด้วยความจริง" หมายถึงนมัสการพระเจ้าตามที่พระคัมภีร์เปิดเผยเกี่ยวกับพระองค์

พระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อเรานมัสการด้วยความจริงใจ เมื่อพระเยซูตรัสว่า คุณต้อง "นมัสการด้วยจิตวิญญาณ" พระองค์มิได้ตรัสถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่ตรัสถึงจิตวิญญาณของคุณซึ่งถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้า คุณเป็นวิญญาณซึ่งอาศัยอยู่ในร่างกาย และพระเจ้าทรงกำหนดให้วิญญาณของคุณสื่อสารกับพระองค์ การนมัสการคือ การที่จิตวิญญาณของคุณตอบสนองต่อพระวิญญาณของพระเจ้า

เมื่อพระเยซูตรัสว่า "จงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ" พระองค์ทรงหมายความว่า การนมัสการต้องเป็นของแท้และมาจากใจ มันไม่ใช่แค่การกล่าวถ้อยคำที่ถูกต้อง คุณต้องคิดอย่างที่พูดด้วย การสรรเสริญที่ไม่ได้มาจากใจนั้นไม่ถือว่าเป็นการสรรเสริญเลย มันเป็นสิ่งที่ไร้ค่า เป็นการดูหมิ่นพระเจ้า

เนื่องจากการนมัสการครอบคลุมถึงการเปรมปรีดิ์ในพระเจ้าด้วย ดังนั้น มันจึงเกี่บวข้องกับอารมณ์ของคุณ พระเจ้าประทานอารมณ์แก่คุณเพื่อคุณจะสามารถนมัสการพระองค์ด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้ง แต่อารมณ์เหล่านั้นต้องเป็นความรู้สึกจริง ๆ ไม่ใช่การเสแสร้ง พระเจ้าทรงเกลียดชังความหน้าซื่อใจคต พระองค์ไม่ต้องการการแสดงโอ้อวด หรือการเสแสร้งทำหรือการตบตาในการนมัสการ พระองค์ต้องการความรักที่แท้จริงและจริงใจของคุณ เราสามารถนมัสการพระเจ้าแบบไม่สมบูรณ์ได้ แต่เราไม่สามารถนมัสการพระองค์แบบไม่จริงใจ

แน่นอน ความจริงใจอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะคุณก็สามารถทำผิดอย่างบริสุทธิ์ใจได้เช่นกัน นั่นคือเหตุผลที่ต้องใช้จิตวิญญาณและความจริง การนมัสการต้องมีทั้งความถูกต้องและออกมาจากใจจริง การนมัสการที่พระเจ้าพอพระทัยนั้นต้องลึกซึ้งทั้งอารมณ์และหลักข้อเชื่อ เราใช้ทั้งหัวใจและหัวสมอง

ปัจจุบัน หลายคนถือเอาอารมณ์ที่คล้อยตามดนตรีว่าเป็นการเคลื่อนไหวของพระวิญญาณ แต่สองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน การนมัสการที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อจิตวิญญาณของคุณตอบสนองต่อพระเจ้า ไม่ใช่ต่อทำนองเพลงบางทำนอง แท้ที่จริงเพลงแนวซึ้งและทบทวนตัวเอง บางเพลงกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการนมัสการ เพราะมันไม่เน้นที่พระเจ้าแต่จดจ่อที่ความรู้สึกของเราเอง ตัวคุณคือสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจได้มากที่สุดในการนมัสการ คือความสนใจและกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับคุณ

คริสเตียนมักจะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องวิธีที่เหมาะสม หรือวิธีที่แท้จริงในการสรรเสริญพระเจ้า แต่ข้อโต้แย้งเหล่านั้นมักจะสะท้อนถึงบุคลิกภาพและภูมิหลังที่แตกต่างกันเท่านั้น พระคัมภีร์กล่าวถึงการนมัสการหลายรูปแบบ ซึ่งได้แก่ การสารภาพบาป การร้องเพลง การโห่ร้อง การยืนถวายเกียรติ การคุกเข่า การเต้นรำ การเปล่งเสียงชื่นบาน การเป็นพยาน การเล่นดนตรี และการชูมือ (ฮีบรู 13:15; สดุดี 7:17; เอสรา 3:11; สดุดี 149:3; 150:3; เนหะมีย์ 8:6) รูปแบบที่ดีที่สุดของการนมัสการคือรูปแบบที่คุณสามารถแสดงความรักต่อพระเจ้าได้ดีที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและบุคลิกภาพที่พระเจ้าประทานแก่คุณ

แกรี่ โธมัส เพื่อนของผมสังเกตว่า คริสเตียนจำนวนมากดูเหมือนจะยึดติดกับพิธีนมัสการที่น่าเบื่อคือ กิจวัตรที่ไม่ทำให้อิ่มเอมใจ แทนที่จะมีมิตรภาพอันน่าตื่นเต้นกับพระเจ้า เพราะพวกเขาฝืนตัวเองให้ใช้วิธีเฝ้าเดี่ยว หรือรูปแบบการนมัสการที่ไม่เหมาะกับเอกลักษณ์ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างเขามา

แกรี่ สงสัยว่า ถ้าพระเจ้าทรงจงใจสร้างเราทุกคนให้แตกต่างกันแล้ว ทำไมทุกคนจึงควรจะถูกคาดหวังให้รักพระเจ้าในแบบเดียวกัน เมื่อได้อ่านหนังสือคริสเตียนอมตะและสัมภาษณ์บรรดาผู้เชื่อที่เป็นผู้ใหญ่ แกรี่ก็พบว่า คริสเตียนได้ใช้หนทางที่แตกต่างมากมายมาตลอด 2,000 ปีเพื่อจะสนิทสนมกับพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการอยู่กลางแจ้ง การศึกษา การร้องเพลง การอ่าน การเต้นรำ การสร้างสรรค์ศิลปะ การรับใช้คนอื่น การอยู่คนเดียว การมีสามัคคีธรรม และการร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

ในหนังสือชื่อ Sacred Pathways (เส้นทางศักดิ์สิทธิ์) ที่แกรี่เขียนนั้น เขาได้กล่าวถึงวิธีการเก้าอย่างที่ผู้คนปฏิบัติเพื่อเข้าใกล้พระเจ้า พวกธรรมชาตินิยมรู้สึกเร้าใจให้รักพระเจ้ามากที่สุดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ท่ามกลางธรรมชาติ พวกที่เน้นประสาทสัมผัสก็รักพระเจ้าด้วยประสาทสัมผัส และชื่นชอบพิธีการนมัสการอันงดงามซึ่งต้องใช้ทั้งสายตา การรับรส การดมกลิ่น และการสัมผัส ไม่ใช่เพียงการรับฟังเท่านั้น พวกประเพณีนิยมเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นโดยผ่านพิธีกรรม ศาสนพิธี สัญลักษณ์ และโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยนแปลง พวกถือสันโดษรักพระเจ้าด้วยการอยู่ตามลำพังและความเรียบง่าย ส่วนพวกนักเคลื่อนไหวรักพระเจ้าโดยการเผชิญหน้ากับความชั่ว ต่อสู้ความอยุติธรรม และทุ่มเทเพื่อทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น พวกเอาใจใส่คนอื่นนั้นรักพระเจ้าโดยการรักคนอื่นและตอบสนองความต้องการของพวกเขา พวกกระตือรือร้นรักพระเจ้าโดยการเฉลิมฉลอง พวกชอบไตร่ตรองรักพระเจ้าโดยการเทิดทูนยกย่อง ส่วนพวกนักคิดรักพระเจ้าโดยการศึกษาด้วยสมองของพวกเขา

ในเรื่องการนมัสการและมิตรภาพกับพระเจ้านั้น ไม่มีวิธีการที่ "ใช้ได้กับทุกคน" สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ การพยายามเป็นคนอื่นที่พระองค์ไม่ได้ประสงค์ให้คุณเป็นนั้นถือเป็นการไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า พระเจ้าต้องการให้คุณเป็นคุณเอง "นั่นคือคนแบบที่พระบิดาทรงแสวงหา คือคนที่เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ต่อพระพักตร์พระองค์ในการนมัสการ" (ยอห์น 4:23 Msg)

พระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อเรานมัสการโดยใช้ความคิด พระบัญชาของพระเยซูที่ให้ "รักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดความคิด" กล่าวซ้ำถึงสี่ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ พระเจ้าไม่พอพระทัยต่อการร้องเพลงสรรเสริญอย่างไร้ความคิด การอธิษฐานที่เต็มไปด้วยคำซ้ำซากเป็นพิธี หรือการอุทานว่า "สรรเสริญพระเจ้า" อย่างไม่ระวัง เพียงเพราะเวลานั้นเรานึกคำพูดอื่นไม่ออก ถ้าเรานมัสการโดยไม่ใช้ความคิด มันเป็นการนมัสการที่ไร้ความหมาย คุณต้องใช้ความคิดร่วมด้วย

พระเยซูทรงเรียกการนมัสการที่ไร้ความคิดว่า "การพูดพล่อย ๆ ซ้ำซาก" (มัทธิว 6:7) แม้แต่คำในพระคัมภีร์ก็สามารถเป็นสำนวนซ้ำซากน่าเบื่อได้ถ้าใช้มากเกินไป เพราะนั่นจะทำให้เราไม่ได้คิดถึงความหมาย มันง่ายกว่าที่เราจะใช้คำซ้ำซากเวลานมัสการ แทนที่จะพยายามถวายเกียรติพระเจ้าด้วยถ้อยคำและวิธีใหม่ ๆ นี่คือเหตุผลที่ผมส่งเสริมให้คุณอ่านพระคัมภีร์ฉบับแปลที่แตกต่างกัน รวมทั้งฉบับถอดความ เพราะมันจะช่วยขยายขอบเขตการแสดงออกในการนมัสการ

ลองพยายามสรรเสริญพระเจ้าไม่ใช่คำว่า สรรเสริญ ฮาเลลูยา ขอบคุณพระเจ้า หรืออาเมน แทนที่จะพูดว่า "เราอยากสรรเสริญพระองค์" ให้คุณเขียนรายการคำพ้องความหมาย และใช้คำใหม่ ๆ เช่น ยกย่อง นับถือ เทิดทูน ยำเกรง ถวายเกียรติ และชื่นชม

นอกจากนั้น ให้คุณพูดอย่างเจาะจง ถ้าใครสักคนมาหาคุณแล้วก็พูดว่า "ผมสรรเสริญคุณ" ซ้ำ ๆ สักสิบครั้ง คุณก็คงจะคิดว่า สรรเสริญเรื่องอะไรล่ะ คุณคงอยากได้คำชมที่เจาะจงสักสองเรื่องมากกว่าคำชมคลุมเครือสักยี่สิบคำ พระเจ้าก็เช่นกัน

อีกวิธีหนึ่งคือการเขียนรายการพระนามต่าง ๆ ของพระเจ้า เปาโลอุทิศ 1 โครินธ์ 14 ทั้งบทเพื่ออธิบายเรื่องนี้ และสรุปว่า "ควรทำทุกสิ่งอย่างเหมาะสมและเป็นระเบียบ" (1 โครินธ์ 14:40 อมตธรรมร่วมสมัย)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระเจ้าทรงยืนยันว่าการนมัสการของเราต้องเป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนที่ไม่เชื่อ เมื่อพวกเขามาร่วมประชุมนมัสการกับเรา เปาโลสังเกตว่า "สมมุติคนแปลกหน้าอยู่ในการประชุมนมัสการของท่าน พวกเขาจะพูดว่า "อาเมน" ได้อย่างไร ท่านอาจจะนมัสการพระเจ้าได้อย่างยอดเยี่ยม แต่คนอื่นไม่ได้ประโยชน์เลยสักคน" (1 โครินธ์ 14:16-17 CEV) การไวต่อความรู้สึกของคนไม่เชื่อที่มาร่วมประชุมกับคุณเป็นคำสั่งในพระคัมภีร์ การละเลยคำสั่งนี้เท่ากับทั้งไม่เชื่อฟังและไม่รัก สำหรับคำอธิบายที่ครบถ้วนของเรื่องนี้ โปรดดูบทที่ชื่อ "การนมัสการก็เป็นคำพยานได้" ในหนังสือคริสจักรที่เคลื่อนไปด้วยวัตถุประสงค์

พระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อการนมัสการของเรามีการปฏิบัติ พระคัมภีร์กล่าวว่า "ให้ท่านทั้งหลายถวายตัวของท่านเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์ และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า นี่เป็นการนมัสการด้วยจิตวิญญาณของท่าน" (โรม 12:1) ทำไมพระเจ้าจึงต้องการตัวของคุณ ทำไมพระองค์ไม่ตรัสว่า "ถวายจิตวิญญาณของท่าน" ก็เพราะว่าถ้าปราศจากร่างกาย คุณก็ไม่สามารถทำอะไรในโลกนี้ได้ ในนิรันดรกาล คุณจะได้รับกายใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ขณะที่คุณอยู่ในโลกนี้ พระเจ้าตรัสว่า "จงให้สิ่งที่เจ้ามีอยู่แก่เรา" พระองค์ทรงเน้นเรื่องการปฏิบัติในการนมัสการ

คุณคงเคยได้ยินคนพูดว่า "ผมมาร่วมประชุมคืนนี้ไม่ได้ แต่ผมจะอยู่กับคุณด้วยจิตวิญญาณ" คุณรู้ไหมว่ามันหมายถึงอะไร ไม่มีความหมายอะไรเลย มันไร้ค่า ตราบใดที่คุณอยู่ในโลกนี้ จิตวิญญาณคุณจะอยู่เฉพาะที่ที่ร่างกายคุณเท่านั้น ถ้าร่างกายคุณไม่อยู่ที่นั่น คุณก็ไม่อยู่เช่นกัน

ในการนมัสการ เราต้อง "ถวายตัวเราเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต" เรามักจะคิดถึง "เครื่องบูชา" ว่าเป็นสิ่งที่ตายแล้ว แต่พระเจ้าต้องการให้คุณเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต พระองค์ต้องการให้คุณมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ แต่ปัญหาของเครื่องบูชาที่มีชีวิตก็คือ มันคลานออกจากแท่นบูชาได้ และเราก็มักทำเช่นนนั้น เราร้องเพลง "ทหารพระเยซู" ในวันอาทิตย์แล้วพอวันจันทร์เราก็หนีทหาร

ในพระคัมภีร์เดิม พระเจ้าทรงพอพระทัยในเครื่องบูชาหลายชนิด เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเล็งถึงการถวายบูชาของพระคริสต์บนไม้กางเขนเพื่อเรา เวลานี้พระเจ้าก็ทรงพอพระทัยกับเครื่องบูชาอันหลากหลายในการนมัสการ เช่น การขอบพระคุณ การสรรเสริญ ความถ่อมใจ การกลับใจ การถวายเงิน การอธิษฐาน การรับใช้คนอื่น และการแบ่งบันให้คนขัดสน (สดุดี 50:14; ฮีบรู 13:15; สดุดี 51:17; ฟีลิปปี 4:18; สดุดี 141:2; ฮีบรู 13:16; มาระโก 12:33; โรม 12:1)

การนมัสการที่แท้จริงต้องลงทุน ดาวิดเข้าใจเรื่องนี้และกล่าวว่า "เราจะถวายเครื่องเผาบูชาแด่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเราโดยที่เราไม่เสียค่าอะไรเลยนั้นไม่ได้" (2 ซามูเอล 24:24)

ราคาค่างวดที่การนมัสการเรียกร้องให้เราสละ คือความเห็นแก่ตัว คุณไม่สามารถยกย่องพระเจ้าและตัวเองในเวลาเดียวกันได้ คุณไม่อาจนมัสการเพื่อให้คนอื่นเห็น หรือให้ตนเองพอใจ คุณต้องหันความสนใจออกจากตัวเอง

เมื่อพระเยซูตรัสว่า "จงรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน" พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าการนมัสการต้องใช้ความพยายามและแรงกาย มันไม่ใช่จะสะดวกหรือสบายเสมอไปและบางครั้งการนมัสการก็เป็นความตั้งใจล้วน ๆ เป็นการเสียสละด้วยความเต็มใจ การนมัสการแบบอยู่เฉย ๆ เป็นคำที่ขัดแย้งในตัวเอง

เมื่อคุณสรรเสริญพระเจ้าแม้ในเวลาที่คุณไม่รู้สึกอยาก เมื่อคุณลุกจากที่นอนเพื่อนมัสการทั้ง ๆ ที่คุณเหนื่อย หรือเมื่อคุณช่วยคนอื่นขณะที่คุณหมดแรง คุณก็กำลังถวายเครื่องบูชาแห่งการนมัสการแด่พระเจ้า และนั่นทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย

แม็ท เรดแมน ผู้นำนมัสการในอังกฤษเล่าวิธีที่ศิษยาภิบาลของเขาสอนคริสตจักรให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการนมัสการ เพื่อทำให้เห็นว่าการนมัสการไม่ใช่แค่ดนตรี เขาจึงห้ามการร้องเพลงทั้งหมดในการนมัสการช่วงหนึ่ง เพื่อพวกเขาจะเรียนรู้ที่จะนมัสการด้วยวิธีอื่น พอสิ้นสุดเวลาช่วงนั้น แม็ทก็ได้เขียนบทเพลงอมตะชื่อว่า "Heart of Worship (หัวใจของการนมัสการ)"

ข้าพระองค์จะถวายมากกว่าเพลง
เพราะว่าเพลงไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ต้องการ
พระองค์สืบเสาะลึกลงไปภายใน
ลึกกว่าสภาพปรากฏภายนอก
พระองค์ทรงมองเข้าไปในหัวใจข้าพระองค์

หัวใจของเรื่องนี้คือเรื่องของหัวใจ

วันที่ 13 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: พระเจ้าต้องการทั้งชีวิตของฉัน

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "จงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน" มาระโก 12:30

คำถามสำหรับการพิจารณา: เวลานี้ สิ่งใดที่พระเจ้าพอพระทัยมากกว่าระหว่างการนมัสการของฉันในที่ประชุม หรือการนมัสการส่วนตัวของฉัน ฉันจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 12 พัฒนามิตรภาพกับพระเจ้า

พระองค์หยิบยื่นมิตรภาพของพระองค์แก่คนเที่ยงธรรม
สุภาษิต 3:32 (NLT)

จงเข้าใกล้พระเจ้าและพระองค์จะเสด็จมาใกล้ท่าน
ยากอบ 4:8

คุณสามารถใกล้ชิดพระเจ้ามากเท่าที่คุณต้องการ

เช่นเดียวกับมิตรภาพทุกรูปแบบ คุณต้องลงแรงเพื่อพัฒนามิตรภาพของคุณกับพระเจ้า สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ต้องอาศัยทั้งความปราถนา เวลา และพลังงาน ถ้าคุณต้องการให้สายสัมพันธ์กับพระเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้น สนิทสนมมากขึ้น คุณต้องฝึกทูลความรู้สึกที่แท้จริงของคุณกับพระองค์ วางใจพระองค์เมื่อพระองค์ตรัสให้คุณทำบางอย่าง เรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งที่พระองค์ทรงใส่พระทัย และปราถนามิตรภาพของพระองค์เหนือกว่าสิ่งใด

ฉันต้องเลือกที่จะเปิดเผยกับพระเจ้า ขั้นตอนแรกแห่งมิตรภาพที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระเจ้า คือการเปิดเผยทุกสิ่ง ทั้งที่เกี่ยวกับความผิดและความรู้สึกของคุณ พระเจ้ามิได้คาดหวังว่าคุณต้องดีสมบูรณ์แบบ แต่พระองค์ทรงยืนกรานว่าคุณต้องเปิดเผยทุกสิ่ง ไม่มีสหายของพระเจ้าสักคนเดียวในพระคัมภีร์ที่ดีสมบูรณ์แบบ ถ้าความดีสมบูรณ์แบบเป็นเงื่อนไขสำหรับมิตรภาพกับพระเจ้า เราคงไม่มีวันเป็นสหายของพระองค์ได้ แต่เพราะพระคุณของพระเจ้า พระเยซูจึงทรงเป็น "เพื่อนของบรรดาคนบาป" (มัทธิว 11:19)

ในพระคัมภีร์ บรรดาสหายของพระเจ้าเปิดเผยความรู้สึกของพวกเขา บ่อยครั้งเขาบ่น วิจารณ์ กล่าวหา และโต้แย้งกับพระผู้สร้าง แต่ดูเหมือนพระเจ้าไม่ได้ทรงขุ่นเคืองต่อความตรงไปตรงมาแบบนี้ ที่จริงพระองค์กลับส่งเสริมด้วยซ้ำ

พระเจ้าทรงปล่อยให้อับราฮัมตั้งคำถามและท้าทายพระองค์เรื่องการทำลายเมืองโสโดม อับราฮัมเซ้าซี้พระเจ้าเรื่องที่ว่าทำอย่างไรถึงจะงดเว้นการลงโทษเมืองนั้นได้ โดยต่อรองพระเจ้าจากคนชอบธรรมห้าสิบคนเหลือเพียงสิบคน

พระเจ้ายังทรงอดทนฟังข้อกล่าวหามากมายของดาวิด เรื่องความไม่ยุติธรรม การทรยศ และการถูกทอดทิ้ง พระเจ้ามิได้ประหารเยเรมีย์เมื่อท่านกล่าวหาว่าพระเจ้าล่อลวงท่าน โยบได้รับอนุญาตให้ระบายความขมขื่นของท่านระหว่างการทดสอบที่แสนทุกข์ทรมาน และในที่สุดพระเจ้าก็ทรงกล่าวรับรองโยบเพราะว่าท่านเปิดเผย และพระองค์ทรงตำหนิสหายของโยบที่ไม่จริงใจ พระเจ้าตรัสบอกพวกเขาว่า "พวกเจ้ามิได้จริงใจทั้งต่อเรา หรือในเรื่องที่เกี่ยวกับเรา ไม่เหมือนกับที่โยบสหายของเราจริงใจ… โยบสหายของเราจะอธิษฐานเพื่อพวกเจ้า และเรายอมรับคำอธิษฐานของเขา" (โยบ 42:7 Msg)

มีตัวอย่างที่น่าตกใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับมิตรภาพที่ตรงไปตรงมานี้ (อพยพ 33:1-17) พระเจ้าทรงแสดงออกชัดเจนถึงความสะอิดสะเอียนสุดขีดของพระองค์ต่อการไม่เชื่อฟังของคนอิสลาเอล พระองค์ตรัสบอกโมเสสว่า พระองค์จะรักษาพระสัญญาของพระองค์ที่จะประทานแผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้แก่คนอิสลาเอล แต่พระองค์จะไม่เดินทางไปในทะเลทรายกับพวกเขาอีกแม้แต่ก้าวเดียว พระเจ้าทรงเบื่อหน่าย และพระองค์ทรงเปิดเผยให้โมเสสรู้ว่า จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงรู้สึกอย่างไร

โมเสสพูดในฐานะ "สหาย" ของพระเจ้า ท่านตอบสนองด้วยความตรงไปตรงมาไม่แพ้กัน "ดูเถิด พระองค์ตรัสบอกให้ข้าพระองค์นำคนเหล่านี้ แต่พระองค์ไม่ให้ข้าพระองค์ทราบว่าจะส่งใครไปกับข้าพระองค์… ถ้าข้าพระองค์พิเศษมากสำหรับพระองค์ ก็ขอให้ข้าพระองค์ร่วมอยู่ในแผนการของพระองค์… ขอทรงอย่าลืมว่า นี่เป็นประชากรของพระองค์ความรับผิดชอบของพระองค์… ถ้าพระองค์ไม่นำพวกเราโดยที่ทรงสถิตอยู่ด้วย ก็ขอทรงยกเลิกการเดินทางนี้เสียเดี๋ยวนี้เถิด ไม่อย่างนั้นข้าพเจ้าจะรู้ได้อย่างไรว่า พระองค์จะทรงเดินทางไปกับเราหรือไม่… พระเจ้าตรัสแก่โมเสสว่า "เอาล่ะ เราจะทำอย่างที่เจ้าพูด เพราะเรารู้จักเจ้าดี และเจ้าพิเศษสำหรับเรา" (อพยพ 33:12-17 Msg)

พระเจ้าสามารถรับได้ไหมถ้าคุณพูดตรงไปตรงมาแบบนั้น หรือเปิดเผยแบบหมดเปลือกได้แน่นอน มิตรภาพแท้นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปิดเผย สิ่งที่ดูเหมือนบังอาจพระเจ้าทรงเห็นว่าเป็นคำพูดจากใจจริง พระเจ้าทรงฟังคำพูดด้วยอารมณ์ของบรรดาสหายของพระองค์ พระองค์ทรงเบื่อคำซ้ำซากตามสูตรและเคร่งศาสนา ถ้าคุณจะเป็นสหายของพระเจ้า คุณก็ต้องเปิดเผยต่อพระเจ้า บอกความรู้สึกที่แท้จริงของคุณ ไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดว่าคุณควรจะรู้สึก หรือควรจะพูด

คุณคงจะต้องสารภาพว่าคุณแอบโกรธและขุ่นเคืองต่อพระเจ้าในบางเรื่อง คุณรู้สึกว่าถูกหลอกหรือรู้สึกผิดหวัง จนกว่าเราจะโตพอที่จะเข้าใจว่า พระเจ้าทรงใช้ทุกสิ่งเพื่อผลดีในชีวิตของเรา เราก็ยังซ่อนความขุ่นเคืองต่อพระเจ้าในเรื่องรูปร่างหน้าตา ภูมิหลัง คำอธิษฐานที่ไม่ได้รับคำตอบ ความเจ็บปวดในอดีต และสิ่งอื่นที่เราคงจะเปลี่ยนถ้าเราเป็นพระเจ้า มนุษย์มักโทษพระเจ้าในเรื่องความเจ็บปวดที่คนอื่นทำ สิ่งนี้ก่อให้เกิดสิ่งที่วิลเลี่ยม แบคคัสเรียกว่า "รอยร้าวที่คุณซ้อนไว้ในความสัมพันธ์กับพระเจ้า"

ความขมขื่นใจเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อมิตรภาพกับพระเจ้า ผมจะอยากเป็นสหายของพระเจ้าไปทำไมถ้าพระองค์ทรงอนุญาตให้เกิดเรื่องนี้ แน่นอน ยารักษาคือการรู้ว่าพระเจ้าทรงกระทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับคุณเสมอ แม้แต่ในเวลาที่มันเจ็บปวดและคุณไม่เข้าใจ แต่การระบายความขุ่นเคืองและเปิดเผยความรู้สึกของคุณคือก้าวแรกของการบำบัดรักษา เช่นเดียวกับที่คนจำนวนมากในพระคัมภีร์ได้ทำ ขอให้คุณบอกพระเจ้าตรง ๆ ว่าคุณรู้สึกอย่างไร (โยบ 7:17-21; สดุดี 83:13; เยเรมีย์ 20:7; รูธ 1:20)

เพื่อบอกเราถึงการเปิดเผยอย่างไม่เสแสร้ง พระเจ้าจึงประทานพระธรรมสดุดี หนังสือคู่มือนมัสการที่เต็มไปด้วยคำพูดโผงผาง การตีโพยตีพาย ความสงสัย ความกลัว ความขุ่นเคือง และความรู้สึกลึก ๆ ผสมกับการขอบพระคุณ คำสรรเสริญ และถ้อยคำแสดงความเชื่อ อารมณ์ทุกชนิดถูกจัดแสดงไว้ในพระธรรมสดุดี เมื่อคุณอ่านคำสารภาพด้วยอารมณ์ของดาวิดและคนอื่น ๆ ก็ขอให้รู้ว่า นั่นคือลักษณ์ที่พระเจ้าต้องการให้คุณนมัสการพระองค์คือ ไม่เก็บซ่อนสิ่งที่คุณรู้สึก คุณสามารถอธิษฐานเหมือนดาวิดว่า "ข้าพเจ้าหลั่งคำคร่ำครวญของข้าพเจ้าออกมาต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์ ข้าพเจ้าทูลเรื่องความลำบากยากเย็นของข้าพเจ้าออกมาต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์ เมื่อใจของข้าพระองค์อ่อนระอา" (สดุดี 142:2-3)

เป็นเรื่องที่หนุนใจเมื่อรู้ว่า สหายสนิทของพระเจ้าทุกคน ไม่ว่า โมเสส ดาวิด อับราฮัม โยบ หรือคนอื่น ๆ ล้วนเคยผ่านช่วงเวลาแห่งความสงสัย แต่แทนที่จะเก็บซ่อนความผิดของพวกเขาด้วยคำพูดแบบเคร่งศาสนา พวกเขากลับพูดสิ่งเหล่านี้ออกมาตรง ๆ และเปิดเผย บางครั้งการแสดงออกถึงความสงสัยก็เป็นก้าวแรกสู่ความสนิทสนมกับพระเจ้า

ฉันต้องเลือกเชื้อฟังพระเจ้าด้วยความเชื่อ ทุกครั้งที่คุณวางใจพระปัญญาของพระเจ้าและทำสิ่งที่พระองค์ตรัส แม้ว่าคุณไม่เข้าใจ คุณก็กำลังให้มิตรภาพกับพระเจ้าลึกซึ้งมากขึ้น เรามักจะไม่คิดว่าการเชื่อฟังเป็นส่วนประกอบของมิตรภาพ มันน่าจะสงวนไว้สำหรับความสัมพันธ์กับพ่อแม่ หรือเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสูงกว่า ไม่ใช่กับเพื่อน แต่พระเยซูตรัสอย่างชัดเจนว่า การเชื่อฟังเป็นเงื่อนไขของความสนิทสนมกับพระเจ้า พระองค์ตรัสว่า "ถ้าท่านทั้งหลายประพฤติตามที่เราสั่งท่าน ท่านก็จะเป็นมิตรสหายของเรา" (ยอห์น 15:14)

ในบทที่แล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่าคำที่พระเยซูทรงใช้เมื่อพระองค์ทรงเรียกเราว่า "สหาย" นั้นสามารถหมายถึง "พระสหายของพระราชา" ในราชสำนัก แม้ว่าสหายสนิทเหล่านี้จะมีสิทธิพิเศษหลายอย่าง แต่พวกเขาก็ยังอยู่ใต้พระราชา และต้องเชื่อฟังคำบัญชาของพระองค์ เราเป็นสหายของพระเจ้า แต่เราไม่ได้เท่าเทียบกับพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่เรารักและเราติดตามพระองค์

เราเชื่อฟังพระเจ้าไม่ใช่เพราะเป็นหน้าที่ หรือเพราะความกลัว หรือเพราะถูกบังคับแต่เพราะเรารักพระองค์ และวางใจว่าพระองค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา เราอยากติดตามพระคริสต์เพราะความกตัญญูต่อทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำเพื่อเรา และยิ่งเราติดตามพระองค์ใกล้ชิดเท่าไร มิตรภาพของเราก็ยิ่งลึกซึ้งมากเท่านั้น

คนที่ไม่เชื่อมักจะคิดว่าคริสเตียนเชื่อฟังเพราะถูกบังคับ หรือเพราะรู้สึกผิด หรือกลัวถูกลงโทษ แต่ความจริงตรงกันข้าม เพราะว่าได้รับการยกโทษและเป็นอิสระ เราจึงเชื่อฟังด้วยความรัก และการเชื่อฟังก็ทำให้เราชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง พระเยซูตรัสว่า "พระบิดาทรงรักเราฉันใด เราก็รักท่านทั้งหลายฉันนั้น จงยึดมั่นอยู่ในความรักของเรา ถ้าท่านทั้งหลายประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะยึดมั่นอยู่ในความรักของเรา เหมือนดังที่เราประพฤติตามพระบัญญัติของพระบิดาและยึดมั่นอยู่ในความรักพระองค์ นี่คือสิ่งที่เราได้บอกแก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราดำรงอยู่ในท่านและให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม" (ยอห์น 15:9-11)

สังเกตว่า พระเยซูทรงคาดหวังให้เราทำเฉพาะสิ่งที่พระองค์ทรงทำต่อพระบิดาเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพระบิดาเป็นแบบอย่างของความสัมพันธ์เรากับพระองค์ พระเยซูทรงทำทุกสิ่งที่พระบิดาทรงขอให้พระองค์ทำ ทั้งนี้เพราะความรัก

มิตรภาพแท้ไม่ใช่การอยู่เฉย ๆ แต่เป็นการกระทำ เมื่อพระเยซูทรงขอให้เรารักคนอื่น ช่วยคนขัดสน แบ่งบันสิ่งของ รักษาชีวิตของเราให้บริสุทธิ์ ยกโทษ และนำคนอื่นมาหาพระองค์ ความรักก็กระตุ้นให้เราเชื่อฟังทันที

เรามักจะถูกท้าทายให้ทำ "สิ่งยิ่งใหญ่" เพื่อพระเจ้า แต่ที่จริง พระเจ้าทรงพอพระทัยมากกว่าเมื่อเราทำสิ่งเล็กน้อยเพื่อพระองค์เป็นการเชื่อฟังด้วยความรัก สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่มีใครเห็น แต่พระเจ้าทรงเห็นสิ่งเหล่านี้ ทรงถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงออกของการนมัสการ

โอกาสใหญ่ ๆ อาจจะมาถึงแค่ครั้งเดียวในชีวิต แต่โอกาสเล็ก ๆ ห้อมล้อมเราอยู่ทุก ๆ วัน แม้แต่การกระทำเรียบง่ายอย่างการพูดความจริง การมีเมตตา และการให้กำลังใจคนอื่นก็สามารถนำรอยยิ้มมาสู่พระพักตร์ของพระเจ้า พระเจ้าทรงชื่นชมการกระทำเรียบง่ายที่เป็นการเชื่อฟัง ยิ่งกว่าคำอธิษฐาน การสรรเสริญ และการถวายของเรา พระคัมภีร์บอกเราว่า "พระเจ้าทรงพอพระทัยในเครื่องเผาบูชาและเครื่องสัตวบูชามากกว่าการที่จะเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์หรือ ดูเถิด ที่จะเชื่อฟังก็ดีกว่าเครื่องสัตวบูชา" (1 ซามูเอล 15:22)

พระเยซูทรงเริ่มต้นทำพันธกิจสาธารณะเมื่อพระชนมายุสามสิบปี โดยการรับบัพติศมาจากยอห์น ในเวลานั้นพระบิดาตรัสจากฟ้าว่า "ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก" (มัทธิว 3:17) แล้วพระเยซูทำอะไรตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้พระเจ้าชอบพระทัยถึงเพียงนี้ พระคัมภีร์ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับช่วงเวลาหลายปีที่เป็นความลับนี้ยกเว้นวลีเดียวในลูกา 2:51 "แล้วพระกุมารก็ลงไปกับบิดามารดายังเมืองนาซาเร็ธ และยอมเชื่อฟังทั้งสอง" (2002) สามสิบปีที่พระองค์ทำให้พระเจ้าพอพระทัยสรุปได้ด้วยคำว่า "ยอมเชื่อฟัง"

ฉันต้องเลือกให้คุณค่าแก่สิ่งที่พระเจ้าทรงให้คุณค่า นี่คือสิ่งที่เพื่อนเขาทำกัน คือ สนใจสิ่งที่สำคัญสำหรับอีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งคุณเป็นสหายที่ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากเท่าไร คุณก็จะยิ่งใส่ใจสิ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัยมากเท่านั้น รวมทั้งโศกเศร้าในสิ่งที่พระองค์ทรงโศกเศร้า และยินดีในสิ่งที่พระองค์ชอบพระทัย

เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ แผนการของพระเจ้าคือแผนการของท่านและความปราถนาของพระเจ้าก็คือความปราถนาของท่าน "เพราะว่าข้าพเจ้าหวงแหนท่านอย่างที่พระเจ้าทรงหวงแหน" (2 โครินธ์ 11:2) ดาวิดก็รู้สึกอย่างเดียวกัน "ความร้อนใจในเรื่องพระนิเวศของพระองค์ได้ท่วมท้นข้าพระองค์ และคำเยาะเย้ยของบรรดาผู้ที่เยาะเย้ยพระองค์ตกแก่ข้าพระองค์" (สดุดี 69:9)

พระเจ้าทรงห่วงใยสิ่งใดมากที่สุด ก็คือการไถ่ประชากรของพระองค์ พระองค์ต้องการให้ลูก ๆ ที่หลงหายได้กลับบ้าน นั่นคือเหตุผลที่พระเยซูเสด็จมายังโลกนี้ สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับพระทัยของพระเจ้าคือการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูพระบุตรของพระองค์ สิ่งที่มีค่าอันดับสองคือ เมื่อลูก ๆ ของพระองค์บอกข่าวนั้นแก่คนอื่น ถ้าจะเป็นสหายกับพระเจ้า คุณจะต้องสนใจคนรอบข้างทุกคน พวกเขาเป็นคนที่พระเจ้าทรงสนพระทัย เพื่อนของพระเจ้าย่อมจะบอกเรื่องพระเจ้าให้เพื่อนของเขาฟัง

ฉันต้องปราถนามิตรภาพกับพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด พระธรรมสดุดีเต็มไปด้วยตัวอย่างของความปราถนาแบบนี้ ดาวิดปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะรู้จักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด ท่านใช้คำอย่างเช่น ปราถนา ถวิลหา กระหาย หิว ท่านต้องการพระเจ้า ท่านกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะเสาะแสวงหาเสมอคือที่ข้าพเจ้าจะได้อยู่ในพระนิเวศของพระเจ้าตลอดวันเวลาชั่วชีวิตของข้าพเจ้า เพื่อจะดูความงามของพระเจ้าและเพื่อจะพินิจพิจารณาอยู่ในพระวิหารของพระองค์" (สดุดี 27:4) ในสดุดีอีกบทหนึ่งท่านกล่าวว่า "ความรักมั่นคงของพระองค์ดีกว่าชีวิต" (สดุดี 63:3)

ยาโคบปราถนาพระพรของพระเจ้ามากเสียจนท่านทนปล้ำสู้บนดินกับพระเจ้าตลอดทั้งคืน ท่านกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ท่านไป นอกจากท่านจะอวยพรแก่ข้าพเจ้า" (ปฐมกาล 32:26) ส่วนที่น่าอัศจรรย์ในเรื่องนี้คือ พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ยอมให้ยาโคบชนะ พระเจ้าไม่ทรงขุ่นเคืองเมื่อเรา "ปล้ำสู้" กับพระองค์ เพราะว่าการปล้ำสู้ต้องมีการสัมผัสแบบเป็นส่วนตัว และนำเราใกล้ชิดกับพระองค์ มันยังเป็นกิจกรรมที่มุ่งมั่นจริงจัง และพระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อเราจริงจังกับพระองค์

เปาโลเป็นอีกคนหนึ่งที่จริงจังต่อมิตรภาพกับพระเจ้า ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่านี้ มันคือสิ่งสำคัญอันดับแรกและเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตท่าน รวมทั้งเป็นสิ่งที่ท่านจดจ่อความสนใจทั้งหมด นี่คือเหตุผลที่พระเจ้าทรงใช้เปาโลอย่างยิ่งใหญ่มาก พระคัมภีร์ฉบับ Amplified (ขยายความ) แปลความร้อนรนของเปาโลไว้ว่า "จุดมุ่งหมายแน่วแน่ของข้าพเจ้าคือ ที่ข้าพเจ้าจะรู้จักพระองค์ ที่ข้าพเจ้าจะคุ้นเคยกับพระองค์อย่างลึกซึ้งและแนบแน่ยิ่งขึ้น ทั้งจะได้เห็นความอัศจรรย์ในพระองค์อย่างแน่ชัดยิ่งขึ้น ๆ" (ฟีลิปปี 3:10 Amp)

ความเจ็บปวดเป็นเชื้อเพลิงสำหรับความปราถนาอันแรงกล้า มันให้พลังงานแก่เราด้วยความรู้สึกเข้มข้นที่อยากจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งตามปกติเราจะไม่รู้สึกเช่นนั้น ซี. เอส. ลุยส์ กล่าวว่า "ความเจ็บปวดเป็นลำโพงของพระเจ้า" มันเป็นวิธีของพระเจ้าในการกระตุ้นเราจากความเฉื่อยชาฝ่ายวิญญาณ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณไม่ใช่การลงโทษ แต่มันเป็นเสียงปลุกจากพระเจ้าผู้ทรงรัก พระเจ้าไม่ได้ทรงพระพิโรธต่อคุณแต่พระองค์ทรงพิโรธต่อสิ่งที่เกี่ยวกับคุณ และพระองค์จะทำทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อนำคุณกลับมาสามัคคีธรรมกับพระองค์ แต่ก็มีทางที่ง่ายกว่านั้นในการจุดประกายความปราถนาร้อนรนต่อพระเจ้าอีกครั้งคือ เริ่มขอพระเจ้าให้ประทานความปราถนานั้นแก่คุณ และเพียรขอต่อไปจนกว่าคุณจะได้รับ จงอธิษฐานตลอดทั้งวันว่า "พระเยซูที่รัก ข้าพระองค์ต้องการรู้จักพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าอยากได้สิ่งอื่นใด" พระเจ้าทรงบอกเชลยในบาบิโลนว่า "เมื่อเจ้าจริงจังในการแสวงหาเรา และปราถนาที่จะพบเรามากกว่าสิ่งอื่นใด เราจะไม่ทำให้เจ้าผิดหวังแน่นอน" (เยเรมีย์ 29:13 Msg)

ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดของคุณ

ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเลย ที่จะสำคัญยิ่งกว่าการพัฒนามิตรภาพกับพระเจ้า เพราะนี่คือความสัมพันธ์ที่จะคงอยู่ตลอดไป เปาโลบอกทิโมธีว่า "คนเหล่านี้บางคนได้พลาดจากสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือ พวกเขาไม่รู้จักพระเจ้า" (ทิโมธี 6:21 LB) คุณพลาดสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตไปหรือเปล่า คุณสามารถทำบางสิ่งได้เดี๋ยวนี้ โปรดจำไว้ว่านี้คือการเลือกของคุณ คุณสามารถใกล้ชิดกับพระเจ้าได้เท่าที่คุณต้องการ

วันที่ 12 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ฉันสามารถใกล้ชิดพระเจ้าได้มากเท่าที่ฉันต้องการ

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "จงเข้าใกล้พระเจ้า และพระองค์จะเสด็จมาใกล้ท่าน" ยากอบ 4:8

คำถามสำหรับการพิจารณา: ฉันสามารถเลือกทำสิ่งใดได้บ้างในวันนี้เพื่อจะใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น