วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 18 เผชิญชีวิตร่วมกัน

พระเจ้าทรงเรียกท่านให้ปรองดองกัน ดุจเป็นอวัยวะในกายเดียวกัน
โคโลสี 3:15 (ประชานิยม)

ดูเถิด ซึ่งพี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็เป็นการดีและน่าชื่นใจมากสักเท่าใด
สดุดี 133:1

ชีวิตนั้นมีไว้เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น

พระเจ้าต้องการให้เรามีประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน พระคัมภีร์เรียกการมีประสบการณ์ร่วมกันนี้ว่าสามัคคีธรรม แต่ทุกวันนี้ คำนี้ได้สูญเสียความหมายส่วนใหญ่ตามพระคัมภีร์ไปแล้ว "สามัคคีธรรม" มักจะหมายถึงการคุยเล่นกัน การเข้าสังคม อาหาร และความสนุก คำถามว่า "คุณไปสามัคคีธรรมที่ไหน" แปลว่า "คุณเข้าโบสถ์ที่ไหน" คำว่า "อยู่ต่อเพื่อสามัคคีธรรม" ก็มักจะแปลว่า "คอยเครื่องดื่ม"

สามัคคีธรรมที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แค่การมาร่วมนมัสการ แต่เป็นการมีประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว การพูดอย่างเปิดเผย การรับใช้ที่เป็นการกระทำ การให้อย่างเสียสละ การปลอบโยนด้วยความเห็นใจ รวมทั้งคำสั่งอื่น ๆ ทั้งหมดในพระคัมภีร์ใหม่ที่มีคำว่า "ซึ่งกันและกัน"

เมื่อพูดถึงการสามัคคีธรรม จำนวนคนก็มีความสำคัญ คือยิ่งน้อยยิ่งดี คุณสามารถร่วมนมัสการกับฝูงชน แต่คุณไม่สามารถสามัคคีธรรมกับฝูงชน เมื่อกลุ่มมีจำนวนมากกว่าสิบคน บางคนจะหยุดมีส่วนร่วม ซึ่งโดยทั่วไปก็คือคนที่เงียบที่สุด และจะมีบางคนครอบงำกลุ่ม

พระเยซูทรงปรนนิบัติในบริบทของกลุ่มสาวกที่เล็ก พระองค์เลือกสาวกมากกว่านี้ได้ แต่พระองค์ทรงทราบว่าสิบสองคนเป็นจำนวนที่มากที่สุดซึ่งคุณจะมีได้ในกลุ่มย่อย ถ้าคุณอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม

เช่นเดียวกับร่างกายของคุณ พระกายของคริสต์คือการรวมตัวของเซลล์เล็ก ๆ จำนวนมาก ชีวิตของพระกายของพระคริสต์อยู่ในเซลล์ต่าง ๆ เหมือนกับร่างกายของคุณด้วยเหตุนี้ คริสเตียนทุกคนจึงต้องเข้าร่วมในกลุ่มย่อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามัคคีธรรมตามบ้าน ชั้นเรียนวรีวารศึกษา หรือกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ ชุมชนที่แท้จริงเกิดขึ้นที่นี่ ไม่ใช่ในการประชุมใหญ่ ถ้าคุณคิดว่าคริสตจักรของคุณเป็นเรือใหญ่ กลุ่มย่อยก็เปรียบเสมือนเรือชูชีพเล็ก ๆ ที่ผูกติดกับเรือลำนั้น

พระเจ้าประทานพระสัญญาที่เหลือเชื่อเกี่ยวกับผู้เชื่อกลุ่มเล็ก ๆ "ด้วยว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหน ๆ ในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางเขาที่นั่น" (มัทธิว 18:20) น่าเสียดายแม้แต่การอยู่ในกลุ่มย่อยก็ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้พบชุมชนที่แท้จริง ชั้นรวีวารศึกษาและกลุ่มย่อยมากมายยังมีลักษณะผิวเผิน และไม่รู้เลยว่าการสามัคคีธรรม ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างสามัคคีธรรมแท้กับสามัคคีธรรมเทียม

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง สามัคคีธรรมแท้ไม่ใช่การคุยเล่นในระดับผิวเผิน แต่เป็นการพูดอย่างจริงใจ จากใจถึงใจ และบางครั้งก็ลึกถึงก้นบึ้ง มันเกิดขึ้นเมื่อผู้คนเปิดเผยว่าตัวเองเป็นใคร และเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเขา พวกเขาพูดถึงความเจ็บปวด เปิดเผยความรู้สึก สารภาพความล้มเหลว บอกความสงสัย ยอมรับความกลัวและยอมรับความอ่อนแอ และขอความช่วยเหลือรวมทั้งการอธิษฐานเผื่อ

สามัคคีธรรมแท้นั้นตรงข้ามกับสิ่งที่คุณพบในคริสตจักรบางแห่ง แทนที่จะมีบรรยากาศที่เปิดเผยและถ่อมใจ กลับมีการเสแสร้ง เล่นละคร เล่นการเมือง และความสุขภาพแต่เปลือกนอก และคุยกันแบบตื้น ๆ ผู้คนสวมหน้ากาก ระวังตัว และทำเหมือนทุกสิ่งในชีวิตเขาโรยด้วยกลีบกุหลาบ ท่าทีเหล่านี้คือความตายของสามัคคีธรรมแท้

เราจะประสบกับสามัคคีธรรมแท้ก็ต่อเมื่อเราเปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตเรา พระคัมภีร์กล่าวว่า "แต่ถ้าเราดำเนินอยู่ในความสว่างเหมือนอย่างพระองค์ทรงสถิตในความสว่าง เราก็ร่วมสามัคคีธรรมซึ่งกัน… ถ้าเราทั้งหลายจะว่าเราไม่มีบาป เราก็ลวงตนเอง" (1 ยอห์น 1:7-8) โลกคิดว่าความใกล้ชิดเกิดขึ้นในความมืด แต่พระเจ้าตรัสว่ามันเกิดขึ้นในความสว่างความมืดถูกใช้เพื่อซ่อนความเจ็บปวด ความผิด ความกลัว ความล้มเหลว และความบกพร่องของเรา แต่ในความสว่าง เรานำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดออกมาเปิดเผย และยอมรับว่า จริง ๆ แล้วเราเป็นใคร

แน่นอน การเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงนั้นต้องใช้ทั้งความกล้าและความถ่อมใจ มันหมายถึงการเผชิญกับความกลัวที่จะเปิดเผย กลัวถูกปฏิเสธ และถูกทำให้เจ็บอีกครั้ง แล้วทำไมคนเราต้องยอมเสี่ยงเช่นนี้ด้วย ก็เพราะว่า มันเป็นวิธีเดียวที่จะเติบโตฝ่ายวิญญาณ และมีสุขภาพดีในทางอารมณ์ความรู้สึก พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงทำสิ่งนี้เป็นประจำคือ สารภาพบาปต่อกัน และอธิษฐานเพื่อกันและกัน เพื่อท่านทั้งหลายจะอยู่ด้วยกันอย่างแข็งแรง และหายโรค" (ยากอบ 5:16ก Msg) เราเติบโตได้ก็โดยการเสี่ยงเท่านั้นและการเสี่ยงที่ยากที่สุดคือการเปิดเผยต่อตัวเองและผู้อื่น

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะพึ่งพากันและกัน การพึ่งพากันและกันคือศิลปะของการให้และการรับ มันคือการอาศัยซึ่งกันและกัน พระคัมภีร์กล่าวว่า "วิธีที่พระเจ้าออกแบบร่างกายของเราคือภาพที่ทำให้เราเข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะคริสตจักร คืออวัยวะแต่ละส่วนต้องพึ่งพาอวัยวะอื่น ๆ" (1 โครินธ์ 12:25 Msg) การพึ่งพากันและกันนี้เป็นหัวใจของการสามัคคีธรรม คือการสร้างความสัมพันธ์แบบตอบสนอง การแบ่งปันความรับผิดชอบ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปาโลกล่าวว่า "ข้าพเจ้าหมายว่าความศรัทธาของข้าพเจ้าจะได้ช่วยท่าน และความศรัทธาของท่านจะได้ช่วยให้ข้าพเจ้ามีกำลังขึ้น" (โรม 1:12 ประชานิยม)

เราทุกคนจะมีความเชื่อคงเส้นคงวามากขึ้น เมื่อมีคนอื่นเดินอยู่เคียงข้างและหนุนใจเรา พระคัมภีร์บัญชาเราเรื่องการรับผิดชอบรายงานต่อกันและกัน การหนุนใจซึ่งกันและกัน การรับใช้กันและกัน และการให้เกียรติแก่กันและกัน (โรม 12:10) เราได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ "ต่อกันและกัน" และ "ต่อกัน" มากกว่าห้าสิบครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ พระคัมภีร์กล่าวว่า "ให้เรามุ่งประพฤติในสิ่งซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขแก่กันและกัน และทำให้เกิดความเจริญแก่กันและกัน" (โรม 14:19)

คุณไม่ได้รับผิดชอบทุกคนในพระกายของพระคริสต์ แต่คุณมีความรับผิดชอบต่อพวกเขา พระเจ้าคาดหวังว่าคุณจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือพวกเขา

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่การให้คำแนะนำ หรือหยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วแต่ผิวเผิน ความเห็นอกเห็นใจคือการพูดว่า "ผมเข้าใจสิ่งที่คุณเผชิญ และสิ่งที่คุณรู้สึกนั้นไม่ได้แปลกประหลาดหรือบ้าบอ" ปัจจุบัน บางคนเรียกท่าทีนี้ว่า "การมีความรู้สึกร่วม" แต่คำที่พระคัมภีร์ใช้คือ "ความเห็นอกเห็นใจ" พระคัมภีร์กล่าวว่า "ในฐานะที่เป็นพวกที่บริสุทธิ์ จงเห็นอกเห็นใจ มีความปรานี ถ่อมใจ อ่อนสุภาพและอดทนนาน" (โคโลสี 3:12 GWT)

ความเห็นอกเห็นใจตอบสนองความต้องการพื้นฐานสองประการของมนุษย์ คือความต้องการที่จะมีคนเข้าใจ และความต้องการให้คนอื่นรับรองว่าความรู้สึกของตนนั้นถูกต้อง ทุกครั้งที่เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของใครสักคน คุณก็กำลังสร้างสามัคคีธรรม ปัญหาคือ เรามักจะรีบร้อนแก้ปัญหาเสียจนไม่มีเวลาเห็นอกเห็นใจคนอื่น หรือเราหมกมุ่นอยู่กับความเจ็บปวดของเราเอง การสงสารตัวเองจะทำให้ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นแห้งเหือด

สามัคคีธรรมนั้นมีหลายระดับ และแต่ละระดับก็เหมาะสมกับเวลาต่าง ๆ กัน ระดับธรรมดาที่สุดคือ สามัคคีธรรมในการแบ่งบันและสามัคคีธรรมในการศึกษาพระคำของพระเจ้าด้วยกัน ระดับที่ลึกกว่านั้นคือสามัคคีธรรมในการรับใช้ เมื่อเรารับใช้ร่วมกันในการออกเดินทางประกาศ หรือในโครงการช่วยเหลือสังคม ระดับที่ลึกที่สุดคือสามัคคีธรรมในการทนทุกข์ (ฟีลิปปี 3:10) เมื่อเราเข้าไปอยู่ในความเจ็บปวดและความเสียใจของคนอื่นและแบกภาระของกันและกัน คริสเตียนที่เข้าใจสามัคคีธรรมระดับนี้ดีที่สุดคือ ผู้คนทั่วโลกซึ่งถูกข่มเหง ถูกดูหมิ่น และบ่อยครั้งก็ถูกฆ่าเพราะความเชื่อของพวกเขา

พระคัมภีร์สั่งว่า "จงแบ่งเบาความลำบากและปัญหาของกันและกัน จึงจะเป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์" (กาลาเทีย 6:2 NLT) ช่วงเวลาวิกฤต โศกเศร้าและสงสัยอย่างรุนแรง คือเวลาที่เราต้องการกันและกันมากที่สุด เมื่อสถานการณ์บดขยี้เราจนถึงจุดที่ความเชื่อของเราสั่นคลอน นั่นคือเวลาที่เราต้องการเพื่อนคริสเตียนมากที่สุด เราต้องการเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะมีความเชื่อในพระเจ้าเพื่อเรา และที่จะดึงเราผ่านปัญหานั้นในกลุ่มย่อยพระกายของพระคริสต์ก็เป็นจริงและมีตัวตน แม้แต่ในเวลาที่พระเจ้าดูเหมือนอยู่ห่างไกล นี่คือสิ่งที่โยบต้องการอย่างยิ่งในขณะที่ท่านทนทุกข์ ท่านร้องว่า "ชายที่สิ้นหวังควรจะมีเพื่อนคอยใส่ใจ แม้ว่าเขาจะละทิ้งความยำเกรงองค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์" (โยบ 6:14 NIV)

ในสามัคคีธรรมแท้ ผู้คนจะได้พบความเมตตา สามัคคีธรรมเป็นสถานที่แห่งความกรุณา ที่ซึ่งความผิดพลาดมีแต่จะถูกลบออกไป ไม่ใช่ถูกตอกย้ำ สามัคคีธรรมเกิดขึ้นเมื่อความเมตตามีชัยเหนือความยุติธรรม

เราทุกคนต้องการความเมตตา เพราะว่าเราทุกคนสะดุดและล้มลง และต้องการความช่วยเหลือให้ลุกขึ้นมาใหม่ เราต้องหยิบยื่นความเมตตาแก่กันและกัน และเต็มใจรับความเมตตาจากกันและกัน พระเจ้าตรัสว่า เมื่อคนทำบาป "ท่านควรจะยกโทษให้เขาและให้กำลังใจเขา เพื่อไม่ให้เขาทุกข์ระทมจนเลิกศรัทธาไป" (2 โครินธ์ 2:7 ประชานิยม)

คุณไม่สามารถมีิสามัคคีธรรมโดยไม่มีการยกโทษ พระเจ้าทรงเตือนว่า "อย่าเก็บความขุ่นเคืองใจไว้" (โคโลสี 3:13 LB) เพราะว่าความข่มขื่นใจและความขุ่นเคืองย่อมจะทำลายสามัคคีธรรม และเนื่องจากเราเป็นคนบาปและไม่สมบูรณ์เพียบพร้อม เมื่อเราอยู่ด้วยกันนานพอ เราจึงทำร้ายกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งเราทำร้ายกันโดยตั้งใจ และบางครั้งก็โดยไม่ตั้งใจ แต่จะแบบใดก็ตาม มันก็ต้องอาศัยความเมตตาและความกรุณาอย่างมากที่จะสร้างและธำรงรักษาสามัคคีธรรมไว้ พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงผ่อนปรนต่อความผิดของกันและกัน และยกโทษให้คนที่ทำผิดต่อท่าน จงระลึกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงยกโทษท่าน ดังนั้นท่านก็ต้องยกโทษให้คนอื่น" (โคโลสี 3:13 NLT)

พระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อเราคือ แรงจูงใจที่เราจะแสดงความเมตตาต่อคนอื่น โปรดจำไว้ว่าพระเจ้าจะไม่ขอให้คุณยกโทษให้ใครมากเกินกว่าที่พระเจ้าได้ทรงยกโทษให้คุณแล้วเมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนทำให้คุณเจ็บ คุณก็มีทางเลือกคือจะใช้กำลังและอารมณ์ตอบโต้ หรือแก้ปัญหา แต่คุณไม่สามารถทำทั้งสองอย่าง

หลายคนลังเลที่จะแสดงความเมตตา เพราะว่าเขาไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการวางใจและการยกโทษ การยกโทษคือการปล่อยให้อดีตผ่านพ้นไป ส่วนการวางใจนั้นเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในอนาคต

การยกโทษต้องทำทันที ไม่ว่าคนนั้นจะขอหรือไม่ ส่วนการวางใจต้องใช้เวลาสร้างขึ้นใหม่ การวางใจต้องอาศัยประวัติที่ดี ถ้าใครทำร้ายคุณซ้ำแล้วซ้ำอีก พระเจ้าทรงสั่งให้คุณยกโทษให้เขาทันที แต่พระเจ้าไม่ได้คาดหวังให้คุณวางใจพวกเขาทันที หรือปล่อยให้พวกเขาทำร้ายคุณต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลง สถานที่ดีที่สุดซึ่งจะกอบกู้ความไว้วางใจกลับคืนมาคือ ในกลุ่มย่อยซึ่งเกื้อหนุน ให้ทำเช่นนั้นคือ กลุ่มที่ให้ทั้งการหนุนใจ และสอนให้คนรับผิดชอบรายงาน

มีผลประโยชน์อีกหลายประการที่คุณจะได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มย่อยที่อุทิศทุ่มเทเพื่อสามัคคีธรรมแท้ นี่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตคริสเตียนที่คุณไม่อาจมองข้ามได้ กว่า 2,000 ปีคริสเตียนได้ร่วมชุมนุมกันในกลุ่มย่อยเพื่อสามัคคีธรรม ถ้าคุณไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือชั้นเรียนเช่นนี้ คุณคงไม่รู้ว่าคุณได้พลาดอะไรไปบ้าง

ในบทต่อไป เราจะมาดูว่าการสร้างชุมชนลักษณะนี้ร่วมกับผู้เชื่อคนอื่น ๆ นั้นต้องอาศัยอะไรบ้าง แต่ผมหวังว่าบทนี้จะทำให้คุณหิวกระหายอยากพบสามัคคีธรรมแท้ที่จริงใจเห็นอกเห็นใจกัน และมีความเมตตา คุณถูกสร้างมาเพื่อชุมชน

วันที่ 18 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ฉันต้องการคนอื่นในชีวิตของฉัน

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "จงแบ่งเบาความลำบากและปัญหาของกันและกัน จึงจะเป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์" กาลาเทีย 6:2 (NLT)

คำถามสำหรับการพิจารณา: มีขั้นตอนใดที่ฉันสามารถทำได้ในวันนี้ เพื่อจะเชื่อมสัมพันธ์กับผู้เชื่ออีกคนหนึ่งในระดับที่ลึกซึ้งและจริงใจมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น