วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ 19 การสร้างชุมชน

ท่านจะสามารถสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและทรงพลัง ซึ่งใช้ชีวิตอย่างถูกต้องจำเพาะพระเจ้า และได้รับผลประโยชน์จากชุมชนนั้น ก็ต่อเมื่อท่านได้ทุ่มเทที่จะปรองดองกัน โดยปฏิบัติต่อกันและกันอย่างให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรี
ยากอบ 3:18

เขาทั้งหลายอุทิศตัวเพื่อฟังคำสอนของอัครทูต และร่วมสามัคคีธรรมรวมทั้งหักขนมปัง (ทานอาหาร) และอธิษฐาน
กิจการ 2:42 (2002)

ชุมชนต้องมีการอุทิศตัว

พระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่สามารถสร้างสามัคคีธรรมแท้ระหว่างผู้เชื่อ แต่พระองค์ทรงเสริมสร้างสามัคคีธรรมนี้ด้วยการตัดสินใจและการอุทิศตัวของเรา เปาโลชี้ให้เห็นความรับผิดชอบที่ควบคู่กันทั้งสองฝ่ายนี้ เมื่อท่านกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายผูกพันกันด้วยสันติภาพโดยทางพระวิญญาณ ดังนั้นจงพยายามสุดความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันเช่นนี้ต่อไป" (เอเฟซัส 4:3 NLV) การสร้างชุมชนคริสเตียนที่มีความรักนั้น ต้องใช้ทั้งฤทธิ์เดชของพระเจ้าและความพยายามของเรา

น่าเสียดาย หลายคนเติบโตมาในครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่ดี ดังนั้นพวกเขาจึงขาดทักษะด้านความสัมพันธ์ที่จำเป็นสำหรับสามัคคีธรรมที่แท้จริง พวกเขาต้องได้รับการสอนให้ปรับตัวเข้าหาคนอื่น และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นในครอบครัวของพระเจ้าแต่ยังดีที่พระคัมภีร์ใหม่มีคำสั่งสอนเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันมากมาย เปาโลเขียนว่า "ข้าพเจ้าเขียนข้อความนี้ถึงท่านก็เพื่อว่า… ท่านจะได้รู้ว่าควรจะประพฤติอย่างไร ครอบครัวของพระเจ้าคือคริสตจักร" (1 ทิโมธี 3:14-15)

ถ้าคุณเบื่อสามัคคีธรรมเทียม และอยากจะสร้างสามัคคีธรรมแท้ และชุมชนที่มีความรักขึ้นในกลุ่มย่อย ชั้นเรียนรวีวารศึกษา และคริสตจักรของคุณ คุณจะต้องตัดสินใจทำเรื่องยาก ๆ บางอย่าง และยอมเสี่ยงบางสิ่ง

การสร้างชุมชนต้องอาศัยการเปิดเผย คุณจะต้องห่วงใยพอที่จะพูดความจริงด้วยใจรักแม้แต่ในเวลาที่คุณอยากจะเลี่ยงหรือละเลยปัญหานั้น มันง่ายกว่าที่จะเงียบเฉยขณะที่คนอื่นรอบตัวเรากำลังทำลายตัวเอง หรือทำลายคนอื่นด้วยวิถีชีวิตที่ทำบาป แต่นี่ไม่ใช่เป็นการกระทำแห่งความรัก คนส่วนใหญ่ไม่รักเขาพอที่จะบอกความจริง (แม้เมื่อมันเจ็บปวด) พวกเขาจึงทำลายตัวเองต่อไป เรามักจะรู้สิ่งที่เราจำเป็นต้องพูดกับคนอื่น แต่ความกลัวขัดขวางเราไม่ให้พูดอะไรทั้งสิ้น สามัคคีธรรมของหลาย ๆ คริสตจักรถูกทำลายโดยความกลัว เพราะไม่มีใครกล้าพอที่พูดในเวลาที่ชีวิตของสมาชิกกำลังแย่

พระคัมภีร์บอกให้เรา "พูดความจริงด้วยความรัก" (เอเฟซัส 4:15 2002) เพราะว่าเราไม่สามารถมีชุมชนโดยปราศจากความตรงไปตรงมา ซาโลมอนกล่าวว่า "คำตอบที่จริงใจเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพแท้" (สุภาษิต 24:26 TEV) บางครั้ง เรื่องนี้หมายถึงการห่วงใยพอที่จะใช้ความรักตำหนิคนที่ทำบาปหรือถูกทดลองให้ทำบาป เปาโลกล่าวว่า "พี่น้องทั้งหลาย หากใครถูกจับได้ว่าทำบาป ท่านที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณควรช่วยเขาอย่างสุภาพอ่อนโยนให้เขากลับตั้งตัวใหม่" (กาลาเทีย 6:1-2 อมตธรรมร่วมสมัย)

คริสตจักรหลายแห่งและกลุ่มย่อยหลายกลุ่มรู้จักกันอย่างฉาบฉวย เพราะกลัวความขัดแย้ง เมื่อไรก็ตามที่ปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตึงเคลียดหรืออึดอัดใจ มันจะถูกละเลยทันทีเพื่อรักษาความสงบสุขจอมปลอมเอาไว้ คนที่ไม่ชอบความขัดแย้งจะกระโดดเข้ามาและพยายามทำให้เหตุการณ์สงบ ดังนั้น ปัญหาจึงไม่เคยได้รับการแก้ไข และทุกคนก็อยู่โดยเก็บความไม่พอใจไว้เงียบ ๆ ทุกคนรู้ถึงปัญหา แต่ไม่มีใครพูดถึงอย่างเปิดเผย สิ่งนั้นจะสร้างบรรยากาศแห่งความลับที่เลวร้าย ซึ่งการซุบซิบนินทาจะเฟื่องฟู แต่การแก้ไขของเปาโลนั้นเป็นอย่างตรงไปตรงมาคืิอ "จงเลิกพูดมุสา เลิกเสแสร้ง จงพูดความจริงกับเพื่อนบ้านของท่าน เราทุกคนผูกพันกันอยู่ในพระกายของพระคริสต์ เมื่อท่านโกหกคนอื่น ท่านก็โกหกตัวเอง" (เอเฟซัส 4:25 Msg)

สามัคคีธรรมแท้ ไม่ว่าในการสมรส มิตรภาพ หรือคริสตจักรของคุณนั้นขึ้นอยู่กับความตรงไปตรงมา ที่จริง อุโมงค์แห่งความขัดแย้งนั้นเป็นเส้นทางสู่ความสนิทสนมในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ตราบใดที่คุณไม่มีความห่วงใยพอที่จะเผชิญหน้าและแก้ไขอุปสรรคที่แฝงเร้นอยู่นั้น คุณก็จะไม่มีทางจะใกล้ชิดกันได้ แต่เมื่อความขัดแย้งถูกจัดการอย่างถูกต้อง เราจะใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยการเผชิญหน้า และจัดการกับความแตกต่างของเรา พระคัมภีร์กล่าวว่า "ในที่สุดคนจะชื่นชมความตรงไปตรงมามากกว่าการป้อยอ" (สุภาษิต 28:23 NLT)

ความตรงไปตรงมาไม่ใช่ใบเบิกทางให้คุณพูดอะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ หรือเวลาใดก็ได้ที่คุณต้องการ พระคัมภีร์บอกเราว่า มีเวลาที่เหมาะสมและวิธีที่ถูกต้องในการทำทุกสิ่ง (ปัญญาจารย์ 8:6) คำพูดที่ไร้ความคิดย่อมทิ้งรอยแผลอันถาวร พระเจ้าทรงบอกให้เราพูดกับแต่ละคนในคริสตจักรเหมือนพูดกับสมาชิกที่รักในครอบครัว "อย่าด่าว่าคนที่สูงอายุแต่ให้เตือนเหมือนว่าคน ๆ นั้นเป็นพ่อ ส่วนพวกหนุ่ม ๆ ก็เตือนเหมือนพวกเขาเป็นพี่น้อง ส่วนหญิงสูงอายุก็เตือนเหมือนเธอเป็นแม่ ส่วนสาว ๆ ก็เตือนเหมือนกับพวกเธอเป็นพี่น้อง" (1 ทิโมธี 5:1-2 อ่านเข้าใจง่าย)

น่าเศร้าที่สามัคคีธรรมนับพัน ๆ กลุ่มถูกทำลายไปเพราะขาดความเปิดเผย เปาโลตำหนิคริสตจักรโครินธ์เพราะพวกเขาเงียบเฉย และพวกเขาปล่อยให้มีการล่วงประเวณีในคริสตจักรของพวกเขา เนื่องจากไม่มีใครกล้าตำหนิเรื่องนี้ ท่านจึงกล่าวว่า "พวกท่านจะแกล้งมองไม่เห็นและหวังว่าเรื่องจะจบไปเองไม่ได้ จงเปิดเผยและจัดการกับปัญหานี้…แม้จะต้องเจ็บปวดและเสียหน้าก็ยังดีกว่าถูกพิพากษา… ท่านทำราวกับว่านี่เป็นเรื่องเล็ก แต่มันไม่ใช่… ท่านไม่ควรทำเหมือนกับว่าทุกสิ่งเรียบร้อยดี ในเมื่อคนหนึ่งท่ามกลางพี่น้องคริสเตียนของท่านประพฤติส่ำส่อน หรือคดโกง มีเล่ห์เหลี่ยมกับพระเจ้า หรือหยาบคายต่อมิตรสหาย เมาสุรา หรือโลภ และเบียดเบียน ท่านไม่สามารถปล่อยไว้ได้ โดยทำราวกับว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ ข้าพเจ้าไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่คนภายนอกทำ แต่เรามีความรับผิดชอบต่อคนที่อยู่ภายในชุมชนผู้เชื่อของเรามิใช่หรือ" (1 โครินธ์ 5:3-12 Msg)

การสร้างชุมชนต้องอาศัยความถ่อมใจ ความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ ความเชื่อมั่น และยโสดื้อรั้น เป็นตัวการทำลายสามัคคีธรรมได้เร็วยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ความเย่อหยิ่งสร้างกำแพงระหว่างผู้คนแต่ความถ่อมใจสร้างสะพาน ความถ่อมใจเป็นน้ำมันที่ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นและผ่อนคลาย นั่นคือเหตุผลที่พระคัมภีร์กล่าวว่า "ท่านจงสวมความถ่อมใจในการปฏิบัติต่อกันและกัน" (1 เปโตร 5:5ข NIV) เสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับการสามัคคีธรรมคือท่าทีแห่งความถ่อมใจ

ส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ข้อนี้กล่าวว่า "… ด้วยว่าพระเจ้าทรงเป็นปฏิปักษ์กับคนเหล่านั้นที่ถือตัวจองหอง แต่พระองค์ทรงสำแดงพระคุณแก่คนที่อ่อนน้อมถ่อมตน" (1 เปโตร 5:5ค) นี่คือเหตุผลอีกประการที่เราต้องถ่อมใจ ความเย่อหยิ่งคือสิ่งที่ขัดขวางพระคุณของพระเจ้าในชีวิตเรา คือพระคุณที่เราจำเป็นต้องได้รับเพื่อจะเติบโต เปลี่ยนแปลงบำบัด และช่วยเหลือคนอื่น เราได้รับพระคุณของพระเจ้าโดยการถ่อมใจยอมรับว่า เราจำเป็นต้องได้รับพระคุณนั้น พระคัมภีร์กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเย่อหยิ่ง เรากำลังดำเนินชีวิตเป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า นั่นเป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่โง่เขลาและอันตราย

คุณสามารถฝึกความถ่อมใจในทางปฏิบัติได้คือ โดยการยอมรับความอ่อนแอของคุณ อดทนต่อความอ่อนแอของคนอื่น ยอมรับฟังคำตักเตือน และยกย่องคนอื่น เปาโลแนะนำว่า "จงอยู่อย่างปรองดองกัน อย่าทำตัวเป็นคนสำคัญ แต่จงอยู่ร่วมกับคนสามัญและอย่าคิดว่า ตัวรู้ทุกอย่าง" (โรม 12:16 NLT) และท่านเขียนถึงคริสเตียนที่เมืองฟีลิปปีว่า "จงให้เกียรติคนอื่นมากกว่าให้เกียรติตัวเอง อย่าสนใจแต่ชีวิตของตน แต่จงสนใจชีวิตของคนอื่น" (ฟีลิปปี 2:3-4 NCV)

ความถ่อมใจไม่ใช่การคิดว่าตัวเองต่ำต้อย แต่เป็นการคิดถึงตัวเองน้อยลง เป็นการคิดถึงคนอื่นมากขึ้น คนถ่อมใจจะจดจ่อที่การรับใช้คนอื่น จนพวกเขาไม่คิดถึงตัวเอง

การสร้างชุมชนต้องอาศัยความสุภาพ ความสุภาพคือการเคารพความเห็นที่แตกต่าง การห่วงใยความรู้สึกของคนอื่น และอดทนต่อคนที่กวนใจเรา พระคัมภีร์บอกว่า "เราต้องรับ "ภาระ" ที่จะใส่ใจต่อความสงสัยและความกลัวของคนอื่น" (โรม 15:2 LB) เปาโลบอกทิตัสว่า คนของพระเจ้าควรจะ "สุภาพอ่อนโยนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับทุกคน" (ทิตัส 3:2 อ่านเข้าใจง่าย)

ทุกคริสตจักรและทุกกลุ่มย่อยมักจะมี "ตัวปัญหา" อย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ แต่โดยทั่วไปจะมีมากกว่าหนึ่งคน คนเหล่านี้อาจจะมีความต้องการทางอารมณ์เป็นพิเศษ ความหวั่นไหวลึก ๆ อุปนิสัยที่กวนใจ หรือทักษะทางสังคมที่ไม่ดี คุณอาจจะเรียกพวกเขาว่า "คนที่ต้องการพระคุณมากเป็นพิเศษ"

พระเจ้าทรงใช้คนเหล่านี้อยู่ท่ามกลางเราเพื่อประโยชน์ทั้งของเขาและของเรา พวกเขาคือโอกาสที่สามัคคีธรรมจะเติบโตและถูกทดสอบ นั่นคือเราจะรักพวกเขาอย่างพี่น้อง และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมีศักดิ์ศรีหรือไม่

ในครอบครัวนั้น การยอมรับไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฉลาด ความสวย หรือความสามารถแต่ขึ้นอยู่กับการที่เราเป็นของกันและกัน เราป้องกันและคุ้มครองครอบครัว สมาชิกในครอบครัวอาจทำตัวตัวงี่เง่า แต่เขาก็เป็นคนหนึ่งในพวกเรา ในทำนองเดียวกัน พระคัมภีร์กล่าวว่า "จงรักกันฉันพี่น้อง จงขวนขวายในการให้เกียรติกันและกัน" (โรม 12:10 2002)

ความจริงคือว่า เราทุกคนมีพฤติกรรมแปลก ๆ และนิสัยที่น่ารำคาญ แต่ชุมชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนต้องเข้ากันได้เหมาะเจาะ พื้นฐานแห่งสามัคคีธรรมของเราคือความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า นั่นคือเราเป็นครอบครัว

กุญแจสู่ความสุภาพคือการเข้าใจภูมิหลังของคนอื่น ลองศึกษาประวัติความเป็นมาของพวกเขาดู เมื่อคุณรู้ว่าพวกเขาผ่านอะไรมา คุณก็จะเข้าใจเขามากขึ้น แทนที่จะคิดว่าพวกเขายังต้องปรับปรุงอีกมากเพียงไร ให้คุณคิดว่าพวกเขามาได้ไกลแค่ไหนแล้วทั้ง ๆ ที่มีบาดแผล

อีกส่วนหนึ่งของความสุภาพคือ การไม่ดูหมิ่นความสงสัยของผู้อื่น เพียงแค่คุณไม่กลัวบางสิ่งบางอย่าง ก็ไม่ได้ทำให้ความกลัวสิ่งที่ว่านั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ชุมชนแท้เกิดขึ้นเมื่อคนรู้ว่า ที่นี่ปลอดภัยพอที่จะเปิดเผยความสงสัยและความกลัวโดยเขาจะไม่ถูกพิพากษา

การสร้างชุมชนต้องอาศัยการรู้จักเก็บความลับ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีการยอมรับอย่างอบอุ่น และสามารถไว้ใจว่าคนอื่นจะเก็บความลับเท่านั้น ผู้คนจึงจะเปิดเผยความเจ็บปวด ความต้องการ และผิดพลาดที่ลึกที่สุดของพวกเขา การเก็บความลับไม่ได้หมายความว่าต้องเงียบเฉยเมื่อพี่น้องทำบาป แต่หมายความว่า ต้องเก็บสิ่งที่พูดในกลุ่มไว้เป็นความลับเฉพาะในกลุ่ม โดยกลุ่มต้องจัดการกับเรื่องนี้ไม่ใช่เอาไปนินทาให้คนอื่นฟัง

พระเจ้าทรงเกลียดชังการนินทา โดยเฉพาะเมื่อมันแอบแฝงมาในรูป "หัวข้ออธิษฐาน" เผื่อคนอื่น พระเจ้าตรัสว่า "คนชั่วนินทาพาปากบอน ยุงยงสอนให้เพื่อนแยกแตกร้าวกัน" (สุภาษิต 16:28 ประชานิยม) การนินทามักจะทำให้เจ็บปวด เกิดความแตกแยก และทำลายสามัคคีธรรม และพระเจ้าตรัสชัดเจนมากว่า เราต้องตำหนิเรื่องการกระทำที่ก่อให้เกิดความแตกแยก คนเหล่านั้นอาจจะโกรธและออกไปจากกลุ่ม แต่สามัคคีธรรมของคริสตจักรนั้นสำคัญกว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด

การสร้างชุมชนต้องอาศัยการความถี่ คุณต้องพบปะกับคนในกลุ่มบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ เพื่อสร้างสามัคคีธรรมแท้ ความสัมพันธ์ต้องอาศัยเวลา พระคัมภีร์บอกเราว่า "อย่าให้เราหยุดการมาประชุมร่วมกันจนเป็นนิสัยอย่างที่บางคนทำอยู่ แต่ให้เราหนุนใจกันและกัน" (ฮีบรู 10:25 TEV) เราต้องฝึกนิสัยการประชุมร่วมกัน นิสัยคือสิ่งที่คุณทำบ่อยครั้ง ไม่ใช่ชั่วคราว คุณต้องพบปะกับคนหลาย ๆ ครั้ง จึงจะสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง นี่คือเหตุผลที่คริสตจักรหลายแห่งมีสามัคคีธรรมแบบฉาบฉวย เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกันนานพอและเวลาที่เราอยู่ด้วยกันก็มักจะเป็นการฟังคน ๆ เดียวพูด

ชุมชนไม่ได้สร้างขึ้นบนความสะดวก (เราจะพบปะกันเมื่อฉันอยากพบ) แต่สร้างบนความเชื่อมั่นว่า ฉันต้องการชุมชนนี้เพื่อสุขภาพฝ่ายวิญญาณ ถ้าคุณต้องการสร้างสามัคคีธรรมแท้ นั่นหมายถึงการพบกันแม้เมื่อคุณไม่รู้สึกอยาก แต่เพราะคุณเชื่อว่านี่คือ สิ่งสำคัญคริสเตียนยุคแรกพบกันทุกวัน "ทุกวันพวกเขาจะเข้าไปนมัสการพระเจ้าร่วมกันในพระวิหารไปรับประทานอาหารด้วยกันตามบ้านด้วยความยินดีและถ่อมใจ" (กิจการ 2:46 ประชานิยม)

ถ้าคุณเป็นสมาชิกของกลุ่มย่อยหรือชั้นเรียน ผมขอวิงวอนให้คุณทำพันธสัญญาของกลุ่ม ซึ่งครอบคลุมลักษณะเก้าประการของสามัคคีธรรมตามแบบพระคัมภีร์ คือเราจะบอกความรู้สึกที่แท้ของเรา (เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง) หนุนใจกันและกัน (พึ่งพากันและกัน) สนับสนุนกัน (เห็นอกเห็นใจ) ยกโทษให้กัน (เมตตา) พูดความจริงด้วยใจรัก (เปิดเผย) ยอมรับความอ่อนแอของเรา (ถ่อมใจ) เคารพความแตกต่างของเรา (สุภาพ) ไม่นินทา (เก็บความลับ) และให้ความสำคัญกับกลุ่ม (ความถี่)

เมื่อคุณอ่านรายการลักษณะเหล่านี้แล้ว คุณคงเห็นได้ชัดว่า เพราะเหตุใดสามัคคีธรรมแท้จึงมีน้อยมาก มันหมายถึงการเลิกเห็นแก่ตัว และเลิกอยู่แบบเป็นเอกเทศ เพื่อจะพึ่งพาอาศัยกัน แต่ประโยชน์ของการใช้ชีวิตร่วมกันนั้นมีมาก คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมเราสำหรับแผ่นดินสวรรค์

วันที่ 19 คิดถึงวัตถุประสงค์ของฉัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ: ชุมชนต้องมีความตั้งใจที่จะอุทิศตัว

ข้อพระคัมภีร์สำหรับท่องจำ: "เราจึงรู้จักความรัก โดยที่พระองค์ได้ทรงยอมสละพระชนม์ของพระองค์เพื่อเราทั้งหลาย และเราทั้งหลายก็ควรจะสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้อง" 1 ยอห์น 3:16

คำถามสำหรับการพิจารณา: ณ เวลานี้ ฉันจะช่วยปลูกฝังลักษณะของชุมชนแท้ในกลุ่มย่อยหรืิอคริสตจักรของฉันได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น